นักวิจัยชี้ประเทศที่ฉีด ‘วัคซีนบีซีจี’ จะมีผู้ติดเชื้อน้อย

นักวิจัยสหรัฐฯ ชี้ประเทศที่ฉีด ‘วัคซีนบีซีจี’ อัตราติดเชื้อ-เสียชีวิตจาก ‘โควิด-19’ จะมีน้อย อาจไม่วิกฤติแบบนี้ ?

วานนี้ (14 เม.ย.2563) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า
การศึกษาที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UM) เมื่อวันที่ (13 เม.ย.63) ชี้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาอาจไม่ถึงเลขสามหลักในช่วงปลายเดือนมีนาคม หากสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้

ภาพจากอีจัน
นักวิจัยวิเคราะห์รายงานผู้ติดเชื้อรายวันของโรคโควิด-19 และอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องใน 50 กว่าประเทศในช่วง 30 วัน พร้อมทั้งสร้างแบบจำลองความแตกต่างของเส้นกราฟที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีการกำหนดนโยบายวัคซีนบีซีจี (BCG) มาก่อนหน้านี้หรือเมื่อไม่นานมานี้ เช่น บราซิล ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอินเดีย เทียบกับประเทศที่ไม่มีนโยบายดังกล่าว เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี และเลบานอน

การวิเคราะห์พบว่าประเทศที่บังคับให้ฉีดวัคซีนบีซีจี หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค มีอัตราเพิ่มขึ้นช้าว่าประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านยอดผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิต

ยกตัวอย่างจากสหรัฐฯ นักวิจัยคาดการณ์ตามแบบจำลองว่าสหรัฐฯ จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 94 ราย ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 4 ของจำนวนผู้เสียชีวิตจริงที่ 2,467 ราย ในวันที่ 29 มี.ค.

ภาพจากอีจัน

การศึกษาเพิ่มเติมพบว่าการฉีดวัคซีนอาจถูกมองว่าเป็นการกระทำเอื้อสังคม (prosocial act) ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนสามารถรับการคุ้มครองนานพอกับผู้ที่ฉีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้บังคับฉีดวัคซีนบีซีจี

มาร์ธา เบิร์ก (Martha Berg) หัวหน้าผู้เขียนงานวิจัยและนักศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า บีซีจีอาจมีประสิทธิภาพเมื่อสัดส่วนของประชากรจำนวนมากมีบทบาทในการต่อต้านไวรัส กล่าวคือ การแพร่กระจายของไวรัสอาจช้าลงเมื่อมี “ภูมิคุ้มกันฝูง” ที่ป้องกันไวรัสจากการแพร่กระจายในหมู่ประชากรอย่างง่ายดาย

การศึกษาดังกล่าวตั้งบนหลักฐานที่มีมาก่อนหน้านี้ว่าการฉีดวัคซีนบีซีจี ซึ่งโดยปกติจะฉีดให้เด็กแรกเกิดหรือในช่วงวัยเด็กนั้น มีผลในการป้องกันที่ยาวนาน ไม่เพียงแต่ป้องกันวัณโรค หากยังป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ด้วย

การศึกษานี้มีข้อจำกัดบางประการ เช่นบางประเทศอาจมีข้อมูลจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่แม่นยำกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้ เนื่องจากวัคซีนบีซีจีจะฉีดในช่วงต้นของชีวิต จึงไม่แน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่อาจมีประสิทธิภาพเท่ากันหรือไม่ หรือการฉีดวัคซีนนั้นจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 นานเท่าใด

“ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่อาจสรุปได้ว่าวัคซีนบีซีจีจะมีผลข้างเคียงใด หากฉีดให้กับผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 อยู่แล้ว” เบิร์กกล่าว “มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม”