กรม สบส. ปลดล็อคตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิดเชิงรุก!

กรม สบส. เผย แนวทางการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิดเชิงรุก ปลดล็อคออกหน่วยให้บริการประชาชนถึงที่พัก ป้องกันการแพร่กระจายโรคระหว่างเดินทาง

(15 เม.ย. 63) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่มีมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ส่งผลให้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 1,500,000 ราย สำหรับประเทศไทยเองก็พบผู้ป่วยสะสมกว่า 2,500 ราย ทำให้พี่น้องประชาชนต่างเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว และในบางรายที่เคยพบปะ หรือมีกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยิ่งเกิดความวิตกกังวล อยากตรวจสอบว่าตนติดโรคโควิด-19 หรือไม่ แต่ก็อาจจะไม่สะดวกในการเดินทางจากที่พักไปสถานพยาบาล ด้วยเกรงว่าอาจเกิดการแพร่กระจายโรค ทำให้การตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดโควิด-19 นอกสถานที่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการกำหนดแนวทางให้สถานพยาบาลได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง บนมาตรฐานเดียวกัน

ภาพจากอีจัน
ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 กรม สบส.จึงได้ออกประกาศ เรื่อง “แนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) นอกสถานพยาบาล” ช่วยปลดล็อคให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถออกให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ณ ที่พักผู้ป่วยเป็นการชั่วคราวได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคฯ โดยการออกให้บริการนอกสถานที่ของสถานพยาบาลในกรณีข้างต้นนั้น อนุญาตให้ดำเนินการเฉพาะการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 ห้ามให้บริการทางการแพทย์ประเภทอื่นๆ อาทิ การเสริมความงาม ฉีดวิตามิน หรือบริการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเด็ดขาด
ภาพจากอีจัน
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้กำหนดให้การให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดโรคโควิด-19 นอกสถานพยาบาลหรือนอกสถานที่ กรณีดำเนินการโดยสถานพยาบาลเอกชนสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ โดยสามารถดำเนินการ ณ ที่พักผู้ป่วยเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้กระทำเป็นปกติธุระ ด้วยผู้ป่วยไม่สามารถมารับบริการทาสถานพยาบาลได้ เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทาง ดังนี้ 1.ผู้รับบริการเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 2.ผู้ให้บริการต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และต้องดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพ 3.กรณีการให้บริการโดยใช้ชุดตรวจภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือดังกล่าวต้องได้รับอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 4.การส่งสิ่งส่งตรวจเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด 19 จะต้องส่งตรวจในห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การรับรอง ตามประกาศกรม สบส.เรื่อง แนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 93 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นเขตกรุงเทพและปริมณฑล 43 แห่ง และต่างจังหวัด 50 แห่ง
ภาพจากอีจัน