ไทยเดินหน้าพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต้นแบบ เผยทดลองในหนูแล้ว

จุฬาฯ ทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ทดสอบในหนูแล้ว 2 ครั้ง อยู่ระหว่างรอผล

19 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความก้าวหน้าของไทยในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า สำหรับในประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รวมนักวิจัยหลายภาคส่วน ทั้ง ศิริราช มหิดล จุฬาฯ โดยเริ่มทำการวิจัยในขั้นห้องทดลอง ส่วนของคณะแพทย์ฯ จุฬาฯ กับบริษัทเอกชน สามารถเดินหน้าสู่การทดลองในสัตว์ทดลองได้แล้ว โดยเฉพาะในหนู

ภาพจากอีจัน
ส่วนต่างประเทศ ที่ก้าวหน้าที่สุดเป็นของสหรัฐฯ จีน อังกฤษ สามารถเริ่มทดสอบในคนระยะที่ 1 และระยะ 2 ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยมีวัคซีน 6 ชนิดที่เริ่มทดสอบในคน ทั้งนี้ ถ้าจะให้ไทยเข้าถึงวัคซีนได้ ต้องทำทั้งสองอย่างคือ 1.นำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบในประเทศไทย รวมถึงมีแผนรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต และข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประเทศไทย 2.พัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทย ให้มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญและมีโรงงานผลิตวัคซีนที่พร้อมดำเนินการ โดยต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งสองกลยุทธ์เพื่อสร้างศักยภาพนักวิจัยในประเทศรวมถึงสร้างหรือปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ภาพจากอีจัน
ดังนั้น เป้าหมายเพื่อการเข้าถึงวัคซีน COVID-19 ให้เร็วที่สุด -ในสภาวการณ์ของการระบาดโควิด-19 จะไม่สงบ จนกว่าประชากรมากกว่า 60% จะติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะกินเวลานานมากเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้ -การรอซื้อวัคซีนโดยไม่ทำอะไรอาจทำได้ยาก และต้องรอเวลานานเพราะศักยภาพการผลิตตอนแรกจะไม่เพียงพอ -การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่การผลิตวัคซีนในประเทศไทยจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากหากจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ต้องมีทั้งบุคลากรและโรงงานผลิตวัคซีนซึ่งไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในเวลาอันสั้น -ถ้าการลงทุนพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศ จะทำให้เราสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้นแม้เพียงหนึ่งเดือนก็นับว่าคุ้มค่า -ศักยภาพการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคตได้ด้วย ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผอ.สถาบันชีววัตถุ กล่าวว่า วันนี้มีมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการในการทดลองผลิตวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบที่อยู่ในขั้นทดลองในสัตว์แล้วก็มีที่จุฬาฯ และได้ฉีดในสัตว์ทดลองแล้ว 2 ครั้ง ณ ตอนนี้ เจาะเลือดในหนูออกมาแล้วส่งให้สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจระดับภูมิคุ้มกันว่าจะขึ้นมากน้อยเท่าไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
ภาพจากอีจัน
ส่วน ม.มหิดล ได้ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเพิ่มจำนวนไวรัสให้มีปริมาณมากพอที่มหิดลจะนำไปฆ่าเชื้อ เพื่อให้เป็นวัคซีนเชื้อตาย จากนั้นจะนำไปทดลองในสัตว์ทดลอง แล้วจะให้กรมวิทย์ตรวจระดับภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกัน