ขสมก. โฉมใหม่! เตรียมปรับให้วิ่งแต่รถแอร์ ราคาเดียว 30 บาท

องค์การมวลชนกรุงเทพ จ่อปรับโฉม ในอนาคตเปลี่ยนเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด ราคาเดียวต่อวัน – ลดจำนวนเส้นทางแก้ปัญหาจราจร

21 เม.ย. 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง แผนฟื้นฟูกิจการองค์การมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยระบุว่า เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม และขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา คาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือน ก.ค. 2563

ภาพจากอีจัน
น.ส.ไตรศุลี เปิดเผยด้วยว่า แผนฟื้นฟู ขสมก. มีเป้าหมายให้ ขสมก. มีประสิทธิภาพในการให้บริการไม่ขาดทุน ไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐ รวมถึงต้องช่วยแก้ปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการเปลี่ยนรถที่จะนำมาวิ่งให้บริการ ให้เป็นรถปรับอากาศทั้งหมด ที่สำคัญ คือ การจัดเก็บราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม เพื่อลดภาระค่าของชีพของประชาชน ปฏิรูปเส้นทางไม่ให้ทับซ้อน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร
ภาพจากอีจัน
สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก. มีวัตถุประสงค์ 5 ด้าน ได้แก่ 1.เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยจัดเก็บค่าโดยสารตั๋ว 30 บาท/คน/วัน ในส่วนกรณีตั๋วรายเดือน จะมีค่าเฉลี่ย 25 บาท/คน/วัน ซึ่งจะทำให้มีราคาถูกลงกว่าในปัจจุบันประมาณ 20 บาท/วัน ซึ่งเชื่อว่าทั้ง ขสมก. และผู้ประกอบการเอกชนสามารถดำเนินการได้ 2.เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ด้วยการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ จากในปัจจุบัน 269 เส้นทาง เหลือ 162 เส้นทาง โดยจะช่วยให้ ขสมก. และเอกชน สามารถลดจำนวนรถที่จะนำมาให้บริการลงได้ 3.ลดปัญหามลภาวะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งในอนาคตรถที่จะนำมาวิ่งให้บริการจะต้องเป็น NGV หรือรถเมล์ไฟฟ้า (EV) โดยจะเริ่มทยอยรับรถรอบแรกในเดือน มี.ค. 2564 และครบทั้งหมดภายในเดือน ก.ย. 2565 4.เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. อย่างยั่งยืน โดยมีแผนให้ EBIDA เป็นบวกในปี 2572 ซึ่งในปัจจุบัน ขสมก. มีหนี้สะสม 129.5 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.พ. 2563) 5.เพื่อให้ ขสมก. สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่เป็นปัญหาต่องบประมาณของภาครัฐ โดย ขสมก. ขอรับเงินสนับสนุน (PSO) ระยะเวลา 7 ปี (2563-2571) วงเงินรวมไม่เกิน 9,674 ล้านบาท
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้พยายามแก้ไขปัญหาของ ขสมก. ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ด้วยหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พร้อมทั้งยึดตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด