มติบอร์ดโรคติดต่อฯ เห็นชอบเพิ่มอัตราตรวจโควิด-19 ในกลุ่มอาชีพเสี่ยง

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มอาชีพเสี่ยง พนง.ขับรถ-คนส่งไปรษณีย์

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนเต็ม ที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือร่วมใจป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 จนประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ถือว่าประเทศไทยควบคุมโรคได้ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 หายป่วยกลับบ้านได้แล้ว พบผู้ป่วยรายใหม่เลขตัวเดียวติดต่อกัน 3 วันแล้ว

ภาพจากอีจัน

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องป้องกันการเข้ามาของผู้ป่วยจากต่างประเทศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนได้ออกประกาศห้ามการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศยานต่อไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และแม้ในระยะต่อไปจะมีมาตรการผ่อนปรน ก็ต้องมีการเตรียมตัวและมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสถานการณ์จะควบคุมได้ ไม่มีการระบาดภายในประเทศอีก

ภาพจากอีจัน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในวันนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบข้อเสนอจากคณะกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้นำข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนกิจการ กิจกรรมในการควบคุมโรคโควิด-19 หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแบ่งกลุ่มกิจการ กิจกรรมที่สามารถเปิดกิจการได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.กิจการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันระดับพื้นฐาน เช่น ร้านอาหารที่เปิดโล่ง ร้านตัดผมที่ไม่มีแอร์คอนดิชัน ตลาด

2.กิจการ กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร นวดแผนไทย

3.กิจการ กิจกรรมที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา กองถ่ายภาพยนตร์

4.กิจการ กิจกรรมที่ไม่ควรให้เปิดดำเนินการ คือสถานที่ที่เป็นที่แออัด คับแคบ ปิดทึบ มืดสลัว ทำให้มองพื้นผิวสัมผัสไม่ชัดเจน หรือมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนต้องมีความใกล้ชิดกัน มีการรวมกลุ่มกัน มีการพูดคุยกันหรือส่งเสียงดัง เช่น สนามมวย บ่อน สถานบันเทิง

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ ทุกกิจการ กิจกรรมต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเน้นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลทุกแห่ง ซึ่งได้เสนอข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทราบแล้ว

ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบแนวทางการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ โดยเพิ่มอัตราการตรวจจาก 2,000 คนต่อประชากรล้านคน เป็น 5,000 คนต่อประชากรล้านคน ซึ่งจะทำให้มีความมั่นใจในการเฝ้าระวังและตรวจพบผู้ป่วยได้เร็ว โดยกำหนดกลุ่มประชากรที่ต้องเฝ้าระวังเรียงลำดับ ดังนี้

1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

2.ผู้ต้องขังรายใหม่

3.กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ และพนักงาน

4.กลุ่มอื่นๆ ตามสถานการณ์ของพื้นที่

ทั้งนี้ต้องให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร