ยารักษาโควิดโดยเฉพาะยังไม่มี สร้างสุขภาพที่ดีเพื่อป้องกัน

แพทย์ เผย ยารักษาโควิด-19 โดยเฉพาะยังไม่มี ควรสร้างสุขภาพที่ดีเพื่อป้องกัน ก่อนใช้ยารักษา

วันนี้ (30 เม.ย. 63) เพจ “ไทยคู่ฟ้า” โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวยา ที่นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมเสนอให้ผู้คน ทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัดดูแลสุขภาพให้ดี ก่อนใช้ยารักษาโดยมีรายละเอียดดังนี้

ยา การรักษาไวรัสโรคโควิด-19….”สร้างสุขภาพ ป้องกันโรคโควิด-19" ก่อนมาซ่อม รักษานะครับ (บางครั้งอาจซ่อมไม่ได้นะครับ)

1) ยารักษาไวรัสนี้…ยังไม่มียารักษาจำเพาะ ยาที่ใช้รักษาจึงนำยาโรคอื่นที่มีหลักฐานการแพทย์ว่าน่าจะมีประโยชน์มาใช้รักษา

1.1) คลอโรควิน (Chloroquine) เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากโรค บางครั้งคลอโรควินจะใช้สำหรับโรคบิดติดเชื้ออะมีบา (Amebiasis) ที่เกิดขึ้นนอกลำไส้, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคลูปัส (Lupus erythematosus)

• สำหรับการรักษาโควิด-19
คลอโรควิน (Chloroquine) หวังไปทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง ป้องกันการถอดร่างไวรัสในเซลล์ ผลการรักษายังไม่เป็นที่แน่ชัด หรือยืนยันว่าได้ผลจากการศึกษาที่ชัดเจน

1.2) ยาต้าน HIV สูตรผสมโลพินาเวียร์และริโทรนาเวียร์ ถูกนำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 เพราะลักษณะเอนไซม์ protease ของไวรัสโควิด-19 กับ HIV มีส่วนคล้ายกัน จึงมีการนำมาใช้

การศึกษาเปรียบเทียบให้กับไม่ให้ในรายโควิด-19 ที่รุนแรง ผลไม่แตกต่างกัน หรือกล่าวว่า โควิด-19 เป็นรุนแรงแล้ว ยา 2 ตัวนี้ไม่ช่วย (ในรายที่ไม่รุนแรง คงต้องรอผลการศึกษา ยานี้มีอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก)

1.3) ยา Flavipiravir
ประเทศญี่ปุ่นคิดขึ้นมาเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ และต่อมาพบว่ามีฤทธิ์กว้าง ขัดขวางการสร้าง RNA ไวรัสชนิดอื่น ๆ ด้วย (เคยมีการนำมาใช้ใน Ebola แต่ผลก็ไม่ได้เป็นดังเป้าหมาย)

– ขณะนี้ก็ได้นำยานี้มาใช้ในการรักษาโควิด-19 กันมาก และรอผลการศึกษาที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ถึงประสิทธิผลในการศึกษาวิจัยที่จะมีการเผยแพร่ ซึ่งประเทศไทย ได้มีการนำมาใช้ในรายที่มีอาการรุนแรง ที่มีปอดบวม

1.4) ยา Remdesivir เป็นยาที่คิดค้นใหม่ ยังไม่ผ่านการรับรองของ อย. ในชาติใด จึงเป็นยาที่อยู่ระหว่างการวิจัยในระยะ 3 และเคยพยายามศึกษากับไวรัส MERS

– ยานี้ได้ถูกนำมาใช้ศึกษาในโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยรายแรกของอเมริกา และมีการศึกษาเป็นจำนวนมาก ในขณะนี้มากกว่า 100 โครงการคงจะทราบผลเร็ว ๆ นี้ คงต้องรอผลสรุปอย่างเป็นทางการ ถึงผลการรักษา และรอขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาก่อน ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย

2) พลาสมาของคนที่หายป่วย ได้มีการศึกษาในจีน เกาหลี มีมากกว่า 5 รายงานการศึกษา ในคนไข้ขณะนี้ที่รายงานเกือบ 30 คน ในรายงานจะบอกได้ผลดี เชื่อว่ามีการให้มากกว่ารายงานและรายงานส่วนมาก จะรายงานโดยสรุป ขณะนี้มีการศึกษากันทั่วโลก เกือบทุกประเทศ ประเทศไทยขณะนี้ก็มีโครงการนี้อยู่ โดยขอบริจาคพลาสมาจากผู้ที่หายป่วยแล้ว

3) การรักษาประคับประคอง ทำในผู้ป่วยทุกราย ให้การรักษาระดับออกซิเจน สารน้ำ สารอาหารให้ได้รับเพียงพอ และรักษาป้องกันภาวะแทรกซ้อน

4) ช่วงโควิด-19 ระบาด กราบขอพี่น้องประชาชนมาช่วยบริจาคเลือดนะครับ ตอนนี้ทั้งประเทศขาดแคลนเลือดมาก ๆ เลือด 1 ถุง ใช้ได้ 3 ชีวิตครับ ไม่เจ็บ ได้บุญมาก ๆ ครับ

ภาพจากอีจัน
บทสรุป 1) “สร้างสุขภาพดี ป้องกันโรคโควิด-19” สำคัญกว่า มารอซ่อมสุขภาพ

2) ขอความร่วมมือของประชาชน > 90% ตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

3) ประเทศไทยมาถูกทางแล้ว เราวิ่งมาราธอน ต้องอดทน วิ่งเร็วบ้าง ช้าบ้าง ชัยชนะโควิด-19 คือการวิ่งเข้าเส้นชัย สิ่งสำคัญ ต้องไม่ “ล้ม” ไม่หัวใจวาย วิ่งด้วยพลังจากใจ หมอมั่นใจ เราวิ่งถึงเส้นชัย

#เราร่วมประกาศชัยชนะโควิด19 และนำบทเรียน สิ่งดี ๆ มาพัฒนาคนไทยและประเทศไทยที่เรารักครับ
ขอบคุณข้อมูล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรณ ราชบัณฑิต
นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานมูลนิธิสุขภาพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ,ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (ระดับ 10) นพ.ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการ ศบค. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล