แพทย์แนะ ตรวจหาโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยง ลดผู้ป่วยไม่เเสดงอาการ

ศ.นพ.นิธิ ชี้คนที่เเพร่เชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่เเสดงอาการ เเนะตรวจหาเชื้อแบบ RNA ช่วยลดการเเพร่ระบาดได้

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย โดยหลายวันมานี้ พบผู้ติดเชื้อในตัวเลขต่ำสิบ เเละพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุก ในกลุ่มเเรงงานต่างด้าว นั่นหมายความว่าอาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่เเสดงอาการ และไม่ได้รับการตรวจ ทำให้เสี่ยงต่อการเเพร่เชื้อหรือไม่?

ล่าสุดวันนี้ (5 พ.ค.2563) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่ไม่เเสดงอาการ เเนะนำให้ตรวจเเบบ RNA เพื่อลดการเเพร่ระบาดลงได้

ภาพจากอีจัน

โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า

สงครามโควิด-19 รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครา

ตอน ตรวจยังไงให้พบเธอ

คนที่แพร่เชื่อไวรัสชนิดนี้ในสังคมทั่วๆไปมักเป็นคนที่มีเชื้ออยู่แต่ไม่มีอาการ 20 % ไม่มีอาการเลย-asymptomatic และอีกส่วนหนึ่งเป็นช่วง 3-7 วันแรกที่ได้เชื้อและแพร่ได้แล้วแต่อาการยังไม่แสดง presymptomatic ดังนั้น การจะลดจำนวนคนที่มีเชื้อไวรัส COVID 19 อยู่แต่ไม่มีอาการลงได้นั้น จะสำคัญและจำเป็นมากๆในการควบคุมการระบาด…..มีอยู่สองแนวทางครับ

ภาพจากอีจัน

วิธีแรกคือทางภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขต้องออกตรวจหา RNA ของเชื้อในกลุ่มคนที่ไม่มีอาการจากการป้ายจมูกให้มากขึ้น (active searching) ถ้าพบก็นำมากักตัวไว้ (14-21 วัน) ซึ่งเป็นไปได้ยากในการที่จะตรวจคนไทยทั้ง 70 ล้านคน

เพราะการตรวจแบบนี้ใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในการทำ ดังนั้น จึงควรทำการตรวจแบบมุ่งเป้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีเชื้อและไม่มีอาการ แต่เสี่ยงที่จะเป็น Super spreader ได้

เช่นในกลุ่มที่อยู่กันในที่พักที่แออัด ประเภทแฟลต ที่พักคนงาน และชุมชนแออัด หรือกลุ่มอาชีพที่จะต้องสัมผัสกับผู้คนจำนวนมากใกล้ชิด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ (อย่าลืมว่าในหนึ่งร้อยคนที่ได้รับเชื้อ จะมี 20 คนเป็นอย่างน้อยที่จะไม่มีอาการ ยิ่งอายุน้อย ไม่มีโรคเรื้อรังก็ยิ่งไม่มีอาการ)

มีข้อมูลจากประเทศจีนในระยะแรกพบว่า บุคลากรทางการแพทย์สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นๆมากกว่าคนทั่วไปถึง 4-5 เท่า (ทั้งนี้เพราะคนเหล่านี้เจอคน แตะสัมผัสตัวคนไข้ทั้งวัน การรักษาระยะห่างทำได้ยากมาก) ดังนั้น การตรวจแบบมุ่งเป้าในกลุ่มคนที่ไม่มีอาการจึงมีความสำคัญ และควรทำร่วมกับวิธีที่สอง