คุณแม่ตั้งครรภ์ฟังทางนี้! หากติดเชื้อโควิดแล้วใช้ยาต้านไวรัส ควรเลี่ยงให้นมลูก

กรมอนามัย เผยหญิงตั้งครรภ์ ที่ติดโควิด-19 แล้วใช้ยาฟาวิพิราเวียร์-ดารุนาเวียร์ ควรเลี่ยงให้นมลูก

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบถึงประชาชนในหลายๆ ด้าน นอกจากนี้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเด็กเล็ก ขณะที่คุณแม่หลังคลอดก็มีความวิตกกังวลว่า หากเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ โควิด-19 สามารถให้นมลูกได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ทางกรมอนามัยได้ออกมายืนยันแล้วว่า คุณแม่ที่ต้องให้นมลูกหากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดสามารถให้นมลูกได้ แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด

ภาพจากอีจัน
แล้วในคุณแม่มีการใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ล่ะ…ให้นมลูกได้ไหม? เกี่ยวกับเรื่องนี้ (12 พฤษภาคม 2563) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรณีคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อโควิด-19 สามารถให้นมลูกได้หรือไม่นั้น จากข้อมูลขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เชื้อโควิดสามารถติดผ่านทางรกหรือทางน้ำนมได้ ดังนั้นกรณีแม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงสามารถให้นมลูกได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มีคำแนะนำว่า หากแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มากสามารถให้นมจากเต้าได้ก็ควรทำ แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปาก รวมถึงการหอมแก้มลูกด้วย
ภาพจากอีจัน
กรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก แต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ ควรให้พ่อหรือผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูกแทน โดยหากมีผู้ช่วยจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มีทักษะ ความรู้และเข้าใจหลักการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด การบีบน้ำนมอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แม่ยังคงสภาพในการให้นมแก่ลูกได้เมื่อหายป่วยแล้ว ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยง จะต้องมีการแยกตัวออกจากทารกอื่นและต้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
ภาพจากอีจัน
“ยังไม่พบหลักฐานที่มีรายงานทางการแพทย์ว่าแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการและแสดงอาการแตกต่างจากคนทั่วไปหรือมีความเสี่ยงสูงที่โรคจะรุนแรง ยกเว้นในรายที่อ้วนหรือมีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ดีอยู่เดิม ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์ยังสรุปไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากข้อมูลมีจำกัด แต่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เพิ่มความรุนแรงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค เป็นการรักษาตามอาการ และการใช้ยาต้านไวรัสมีหลายชนิด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ภาพจากอีจัน
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ สำหรับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยาสามารถผ่านรกและถูกขับออกทางน้ำนมได้ ทำให้เกิดความพิการแก่ตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง ส่วนยาต้านไวรัสดารุนาเวียร์ (Darunavir) สามารถผ่านทางน้ำนมได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวังในการพิจารณาความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับและสื่อสารกับหญิงตั้งครรภ์และญาติให้เข้าใจ กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) หากเป็นไปได้ควรเลี่ยงการให้นมลูกในระหว่างที่ได้รับยาด้วย ส่วนการให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ หญิงหลังคลอดยังสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ