ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องถึงศาล ธรน. ร้องรัฐผลิตไฟฟ้าน้อย ทำค่าไฟแพง

“ร้องศาลวินิจฉัยเหตุทำค่าไฟแพง” ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ร้องรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าแผน ให้ค่าไฟฟ้าแพงเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ช่วงที่ผ่านมาหลังจากเกิดวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 และมีการทำงานที่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ทำให้ค่าไฟพุ่งสูงปรี๊ด บางคนต้องกุมขมับเพราะค่าไฟเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติ จากหลักพันเป็นหลักแสน
เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาทำให้เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบการคิดค่าไฟฟ้าและมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้ปรับลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมถึงนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ได้ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตรวจสอบว่าการที่กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในการให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ลดลงต่ำกว่าร้อย 51 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสองหรือไม่

ภาพจากอีจัน


ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่ารัฐผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (2559 – 2563) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2018) มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง การที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐมีน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง พร้อมมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานทบทวน ปรับแผน PDP 2015 และ PDP 2018 กำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ให้แล้วเสร็จใน 120 วัน และทำให้รัฐมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายใน 10 ปี นับจากปีพ.ศ.2562

ภาพจากอีจัน


โดยผลจากการที่รัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามแผนดังกล่าว ทำให้ตนเองในฐานะประชาชนผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงด้วย ยิ่งช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และประชาชนต้องทำงานที่บ้าน ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน และที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีมติเห็นว่านายสุทธิพรถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่คุ้มครองไว้จากการกระทำของกระทรวงพลังงานที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงได้ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ มาตรา 46 มาตรา 56 วรรคสอง