9 มิถุนายน รำลึกถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8

9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร.8 น้อมรำลึกถึงกษัตริย์ผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์

9 มิถุนายน ถือเป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันของคนไทย คือวันอานันทมหิดล ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร.8 ที่เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2498 จึงได้ถือเอาวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันอานันทมหิดล เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน

ภาพจากอีจัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิตลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ภาพจากอีจัน

สำหรับการศึกษา พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ก่อนศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทำให้สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งที่นั่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ และได้ย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนูแวลเดอลา ซูวิสโรมองต์

เมื่อช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระยศขณะนั้น ขึ้นครองราชย์สืบราชสันติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และเจ้าพระยายมราช ทำการบริหารแผ่นดินแทนพระองค์ที่มีพระชนมพรรษาเพียง 8 พรรษา จนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ
ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการปกครอง พระองค์ทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนที่เกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ด้านการศาสนา พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ด้านการศึกษา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และหลังจากพระองค์ทรงงานไม่กี่ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

ซึ่งเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี 2563 เข็มที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล (9 มิถุนายน) วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 8 ผู้พระราชทานกำเนิด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อนำรายได้จากการบริจาคสมทบทุน โครงการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 (COVID-19), มูลนิธิอานันทมหิดล, มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก สภากาชาดไทย และช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์อาพาธ – ผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระราชาชูปภัมภ์