ปกครอง DSI สร้างทีมมือปราบอาชญากรไซเบอร์ละเมิดเด็ก

ฝ่ายปกครองร่วม DSI สร้างทีมบังคับใช้กฎหมายป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ ละเมิดเด็ก – ค้ามนุษย์ผ่านโลกไซเบอร์

ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมรูปแบบใหม่ (Transitional Organized Crime Investigation Training) ณ โรงแรมแคนทารี่ อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฮันส์ – ไซเดล (Hanns – Seidel Foundation) แห่งสาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย และหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติ (National Crime Agency) สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง และประธานชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ในฐานะผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัญหาด้านความมั่นคงของโลกยุคโลกาภิวัตน์ อาชญากรรมรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ และนับวันจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและการค้ามนุษย์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร และการเชื่อมโยงคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนและบังคับใช้กฎหมาย จักต้องมีองค์ความรู้และทักษะในการสืบสวนสอบสวนให้เท่าทันกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ รวมทั้งควรมีการบูรณาการและสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมรูปแบบใหม่เหล่านี้ต่อไป
ภาพจากอีจัน
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และ ตำรวจ รวมทั้งสิ้น 30 คน ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการระหว่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการและประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม กล่าวถึง ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้ว่า วิทยากรที่มาร่วมถ่ายทอดวิชาความรู้ในการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ นายมานะ สิมมา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, นางสาวอมรรัตน์ เล็กวิชัย นักนิติวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สถานบันนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ และวิทยากรจากต่างประเทศ อาทิ FBI, HSI, USSS, AFP, BKA, Swedish Police เป็นต้น
ภาพจากอีจัน
เจ้าหน้าที่ผู้รับการฝึกเข้าอบรมทั้ง 30 คน จะได้รับการพัฒนาทักษะด้านการสืบสวนสอบสวน ทั้งการสืบสวนทางอิเล็กทรอนิกส์ การรวบรวมพยานหลักฐานทางดิจิตอล และการสอบสวนขยายผลการกระทำผิด เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีอาชญากรรมรูปแบบใหม่ต่างๆ รวมทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายเจ้าหน้าที่ “ทีมบังคับใช้กฎหมาย” (Task Force Team) ขึ้นอีกด้วย ซึ่งหลังจบจากการฝึกอบรมในครั้งนี้แล้ว ทีมบังคับใช้กฎหมายนี้ก็จักได้ขับเคลื่อนภารกิจการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและการค้ามนุษย์ต่อไป
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
นายมานะ สิมมา วิทยากรประจำหลักสูตร กล่าวเสริมว่า โครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ซึ่งมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวน ได้พัฒนาทักษะและฝึกการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน นี่คือการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งประเทศไทยถูกกล่าวหาว่า มีการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอมาโดยตลอด จึงต้องขอบคุณผู้จัดโครงการ รวมทั้งองค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศผู้สนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจักช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมรูปแบบใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป