16 มิถุนายน วันเต่าทะเลโลก รักเต่า-รักทะเล งดทิ้งพลาสติก

รักทะเลต้องรักเต่าทะเลด้วยนะรู้ยัง? 16 มิถุนายน วันเต่าทะเลโลก รู้วิถีของเต่าทะเล-เลี่ยงทิ้งขยะพลาสติก ร่วมอนุรักษ์ให้เต่าทะเลอยู่กับเราไปนานๆ

16 มิถุนายน วันเต่าทะเลโลก World Sea Turtle Day
ร่วมอนุรักษ์เต่าทะเลไทย หยุดทิ้งพลาสติก หยุดทำลายวงจรสัตว์ทะเล
ถ้าพูดถึงเต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่มีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปเมื่อ 130 ล้านปีก่อนในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น ทั่วโลกพบ 7 ชนิด สำหรับในน่านน้ำไทยพบมากถึง 5 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน ปัจจุบันเต่ามะเฟืองได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน ส่วนเต่าทะเลอีก 4 ชนิดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
วันเต่าทะเลโลก (Sea Turtle Day) ช่วยกันลดสร้างขยะ ให้เต่าทะเลทั้ง 7 ชนิดทั่วโลก และที่พบในไทย 5 ชนิด ได้อยู่รอดปลอดภัย
แล้วรู้หรือยังว่าเต่าทะเลมีกี่ชนิด วันนี้จันมีคำตอบ โดยสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 กรมประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลไว้ว่า
เต่าทะเลคือหนึ่งในสัตว์ไม่กี่ชนิดพันธุ์ในยุคปัจจุบันที่เคยแหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลร่วมกับสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างไดโนเสาร์ สิ่งที่แตกต่างกันคือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปนานเเล้วกว่า 100 ล้านปีด้วยสาเหตุธรรมชาติ แต่เต่าทะเลนั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในเร็วๆ นี้ด้วยสาเหตุจากเราเหล่ามนุษย์

ภาพจากอีจัน


จากสถิติ 1 ใน 1,000 ของลูกเต่าทะเลแรกเกิดเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดไปถึงช่วงโตเต็มวัยได้ และ 3 ใน 7 ของชนิดพันธุ์เต่าทะเลตกอยู่ในสถานภาพ "ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง’
หากใครยังไม่ทราบ เราแบ่งเต่าเป็น 3 ประเภทคือ
1. เต่าน้ำจืด (อยู่ในน้ำขึ้นมาอาบแดดบางครั้ง ต้องการพื้นดินไว้พัก)
2. เต่าบก (ว่ายน้ำไม่เป็น กระดองหนัก)
3. เต่าทะเล (อยู่ในทะเลตลอด ขึ้นมาเฉพาะวางไข่)
เต่าทะเล เป็นสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็น ที่มีกระดูกสันหลัง และมีปอดที่ใช้ในการหายใจ มันวางไข่ได้ถึง 150 ฟองต่อครั้ง โดยการฟังกลบไว้ในทราย ที่น่าเศร้าคือมีเพียง 1% ที่สามารถอยู่รอดถึงโต ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากนักล่าบนบก
ที่น่าสนใจคือเต่าทะเลทุกตัวจะกลับมาวางไข่บนหาดเดิมที่มันเกิด มันมีระบบคล้าย GPS ในตัว ที่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่านานเท่าไหร่ ระยะทางไกลแค่ไหน มันจะกลับมาวางไข่ที่เดิม
เต่าทะเลมีการดำรงชีวิตในน้ำเป็นส่วนใหญ่ และจะขึ้นบกที่มีหาดทรายเพื่อวางไข่เท่านั้น
เต่าทะเลที่พบในโลกมีเพียง 2 วงศ์ รวม 5 สกุล และมีอยู่ 7 ชนิด พบในไทยได้เพียง 5 ชนิด
1. เต่ากระ (Hawksbill) พบในไทย CR
2. เต่าตนุ (Green) พบในไทย EN
3. เต่าหลังแบน (Flatback) พบในออสเตรเลียเท่านั้น DD
4. เต่าหญ้า หรือเต่าสังกะสี (Olive Ridley) พบในไทย VU
5. เต่าหญ้าแคมป์ (Kemp’s Ridley) CR
6 เต่าหัวฆ้อน (Loggerhead) พบในไทย VU 7. เต่ามะเฟือง (Leatherback) พบในไทย VU

ภาพจากอีจัน

แต่ในปัจจุบันมีเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดไทยเพียง 4 ชนิด ดังที่กล่าวมา ยกเว้นเต่าหัวฆ้อนที่เคยมีการวางไข่ในชายหาดของประเทศไทย แต่ไม่พบนานกว่า 20 ปี แล้ว • ที่น่าเศร้าคือในปัจจุบัน เต่าทะเลทั้งหมดเสี่ยงสูญพันธุ์ จำนวนที่น้อยลงอย่างมาก อัตราการรอดของมันต่ำ ซึ่งมีส่วนจากการทำประมงเกินขนาดปริมาณ ความต้องการกระดองและเนื้อเต่าทะเลเพื่อทำการส่งออก การกินไข่เต่า การสูญเสียพื้นที่วางไข่ตามแนวชายหาด
อีกปัจจัยคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง สัตว์เลื้อยคลานอย่างเต่านั้น เพศของมันจะถูกกำหนดจากอุณหภูมิ ถ้าหากอากาศร้อนขึ้น เป็นไปได้ที่อาจทำให้มีเต่าเพศเมียมากขึ้น
และอีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ที่พบมากขึ้นในปัจจุบันนี้ คือการกินพลาสติกเข้าไป และติดกับดักขยะในทะเลทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งวิจัยล่าสุดมีการพบไมโครพลาสติกในเต่าทุกตัวที่ศึกษา
ในระยะต่อมากรมประมงมองเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้ออกกฎห้ามทำการประมงอวนลากใกล้ชายฝั่งในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง โดยเพิ่มกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้น และแหล่งวางไข่เต่าทะเลหลายแห่งได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล
เนื่องในวันเต่าทะเลโลก เรามาช่วยกันลดสร้างขยะ เก็บขยะริมถนน ริมหาด ทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง เพื่อให้เต่าทะเลอยู่รอดปลอดภัยไปตราบนานเท่านาน
รักทะเลรักเต่า อย่าเอาขยะไปให้เขา ร่วมด้วยช่วยกันนะคะ