เตือนหญิงไทย หยุดรับจ้างอุ้มบุญ เสี่ยงภาวะมดลูกแตก – ผิดกฎหมาย

สบส. เตือนหญิงไทย!! อย่ารับจ้างอุ้มบุญ ชี้ทำลายสุขภาพตนเอง-อนาคตเด็ก แนะทำตามกฎหมาย

วันนี้ (2 ก.ค.63) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนหญิงไทย ไม่รับจ้างอุ้มบุญทั้งในประเทศหรือต่างแดน หยุดทำลายสุขภาพตนเอง เพื่อความปลอดภัย และอนาคตเด็ก แนะนำให้ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง และได้รับการดูแลอย่างรอบด้านตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนจบกระบวนการ

ภาพจากอีจัน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน กรม สบส. ได้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์แทนได้แล้วทั้งหมด 344 ราย โดยกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558” กำหนดให้การขออนุญาตตั้งครรภ์แทนกระทำได้ในคู่สามีภริยาคนไทยที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องอายุระหว่าง 20-40 ปี และเคยมีบุตรมาแล้ว โดยกฎหมายห้ามมิให้ดำเนินการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยเด็ดขาด ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการมีบุตรแต่ไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย หรือผู้ที่ต้องการรับจ้างอุ้มบุญทางการค้าแอบลักลอบไปรับบริการอุ้มบุญที่ต่างประเทศ ซึ่งการที่หญิงไทยเดินทางไปรับจ้างอุ้มบุญในต่างประเทศ ที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เป็นการเฉพาะนั้น ย่อมมีความเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งในด้านสุขภาพ ร่างกาย หรือสิทธิ์ในการเลี้ยงดูเด็กที่เกิด เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการดูแลสุขภาพหญิงอุ้มบุญ หรือกำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็ก อธิบดีกรม สบส. กล่าวอีกว่า หากเกิดการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ ก็ไม่สามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้ หรือหากเด็กที่เกิดมีความพิการก็อาจทำให้ถูกทอดทิ้ง แตกต่างจากประเทศไทยที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ควบคุม กำกับเป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายมีการทำข้อตกลงกับหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ในการเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาพยาบาล รักษาสุขภาพ หรือเมื่อได้รับความเจ็บป่วยจากการรับตั้งครรภ์แทน อีกทั้ง กำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนไว้อย่างชัดเจน ห้ามมิให้สามีภริยาปฏิเสธการรับเด็กโดยเด็ดขาด จึงมั่นใจได้ว่าทั้งหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและเด็กจะได้รับการดูแลอย่างรอบด้านตั้งแต่ระหว่างการตั้งครรภ์และภายหลังการคลอด ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. เผยว่า สำหรับผลกระทบต่อหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญ จะถูกฉีดยาเร่งไข่ในปริมาณมาก เกิดความเสี่ยงน้ำในช่องท้องคั่ง หัวใจล้มเหลว หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และอาจเกิดการตกเลือด หรือการอักเสบติดเชื้อ สูญเสียความสามารถในการมีบุตร นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากจะมีการใส่ตัวอ่อนในปริมาณมาก เพื่อให้มีบุตรมากกว่าการคำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น การตกเลือด โรคพิษแห่งครรภ์ ภาวะมดลูกแตกและเสียชีวิต ซึ่งหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญถือเป็นมารดาของเด็กที่เกิดมา จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย อาจส่งผลกระทบกับครอบครัวและการใช้ชีวิตของหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญ การกระทำดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ ก่อให้เกิดปัญหาต่อเด็กและสังคม จึงขอกำชับให้ผู้ที่มีความคิดที่จะดำเนินการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้า คิดเสียใหม่ ไม่นำอามิสสินจ้างเพียงเล็กน้อยมาแลกกับสุขภาพตน ความปลอดภัย และอนาคตเด็กที่เกิด แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนสามารถทำได้ในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (https://mrd-hss.moph.go.th/) มีจำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ