เจ้าหน้าที่พาลูกช้างป่าย้ายเข้าคอก “หอต้นผึ้ง” เข้าป่าลึก 4 กม. รอแม่ช้างมารับ

ลุ้น! แม่ช้างจะมารับลูกช้างตอนไหน? หลังเจ้าหน้าที่ทำคอกใหม่บริเวณ “หอต้นผึ้ง” มีแหล่งน้ำให้ลูกช้างกิน-เล่นผ่อนคลาย

ความคืบหน้ากรณีพบลูกช้างป่า อายุประมาณ 2-3 เดือน พลัดหลงโขลง เดินเข้ามาในเขตหมู่บ้านเพียงตัวเดียว เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา

จากนั้นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้นำมาดูแล และหาทางเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ทำคอกบริเวณห้วยน้ำขุ่น ให้ลูกช้างป่าเข้าไปอยู่เพื่อรอแม่ช้างมารับ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด แต่ปรากฏว่าการพยายามปล่อยลูกช้างป่ากลับโขลงทั้ง 2 ครั้งไม่สำเร็จ เพราะแม่ช้างไม่ออกมารับลูกช้างตามที่คาดการณ์ไว้ แต่มีเสียงร้องโต้ตอบกันระหว่างลูกช้างและโขลงช้างอยู่เป็นระยะ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 63 นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า หลังที่ประชุมมีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 63 ให้มีการเคลื่อนย้ายลูกช้างจากคอกเตรียมปล่อยจุดห้วยน้ำขุ่น มาไว้ที่คอกเตรียมปล่อยหอต้นผึ้ง ในช่วง 2 วัน (วันที่ 30 มิ.ย. และ วันที่ 1 ก.ค. 63) เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยไฟป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง รวม 60 นาย ได้ร่วมกันจัดสร้างคอกเตรียมปล่อยลูกช้าง ขยายจาก ขนาด 9X9 เมตร เป็นขนาด 40×40 เมตร ( 1 ไร่ ) โดยใช้เสาไม้ยูคาลิปตัส จำนวน 200 เสา (ได้รับการสนับสนุนจากสวนป่าทับเสลา ของ อ.อ.ป. ) และใช้ไม้ไผ่มากั้นเป็นรั้วอย่างมั่นคง แข็งแรง พร้อมได้ติดตั้งกล้องถ่ายรูปชนิดดักถ่าย และติดตั้งระบบแสงสว่าง เพื่อเฝ้าระวังสัตว์ผู้ล่า เสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่กำหนดไว้

โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 63) นายพรชัย ช่วยนุกูล หรือพี่เขียว พี่เลี้ยงผู้ดูแลลูกช้าง พร้อมด้วยทีมคชสาร และเจ้าหน้าที่ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้พาลูกช้างออกจากคอก เดินเท้าเคียงคู่กันมาตามเส้นทางตรวจการ และเดินลัดป่าในบางจุด ไปยังคอกเตรียมปล่อยคอกใหม่ "หอต้นผึ้ง" รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ถึงคอกใหม่ เวลา 10.00 น.

ด้านนายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์ ให้เหตุผลที่เสนอให้นำลูกช้างโดยการเดินเท้ามาก็เพื่อให้ลูกช้างได้ออกกำลังกายและลดความเครียด เนื่องจากว่าหากนำลูกช้างขึ้นรถเคลื่อนย้าย อาจจะเกิดภาวะเครียดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน


เมื่อมาถึงจุดหอต้นผึ้ง ทางเจ้าหน้าที่ ได้ให้ลูกช้างเล่นน้ำบริเวณลำธารเล็กๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียดและคลายความเหนื่อยล้า หลังจากนั้นได้พาลูกช้างเข้าคอกใหม่ ลูกช้างไม่มีอาการตื่นกลัวหรือเครียดจากสภาพแวดล้อมใหม่ จะมีเพียงแต่เริ่มแสดงอาการหวงพื้นที่ โดยแสดงอาการ หูกาง หางชี้ตั้ง ส่งเสียงร้องเสียงดังเวลาที่เจ้าหน้าที่ไม่คุ้นหน้าหรือไม่คุ้นเคยจะเข้ามาในคอก

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแผนว่าถ้าแม่ช้างไม่มารับ เล็งจะใช้คอกใหม่นี้ ให้แม่รับมาอยู่อาศัยด้วย และจะทำการดูแลลูกช้างให้รู้จักช่วยตัวเอง ให้พึ่งตัวเองอยู่ได้ตามธรรมชาติเองให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมให้ลูกช้างกลับเข้าฝูงให้ได้ สำหรับสุขภาพอนามัยของลูกช้าง นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์ นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 ทีมสัตวแพทย์ ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์ ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒ ตำแหน่งสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ ดร. สิทธิเดช มหาสาวังกุล ตำแหน่งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ. อ. ป. ได้เข้าร่วมประเมินสุขภาพลูกช้างป่า เบื้องต้นพบว่า ลูกช้างป่าร่าเริง วิ่งเล่น แข็งแรง สะบัดหูไปมา ร้องเสียงดัง บาดแผลที่ข้อเท้าหน้าขาซ้ายหายสนิทดี ทีมสัตวแพทย์ลงความเห็นร่วมกันว่า มวลดัชนีกาย (Body score) อยู่ที่ 3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งหมายความว่าลูกช้างป่า ไม่อ้วน หรือ ผอมจนอาการน่าเป็นห่วง โดยบางมุมจากการสังเกตอาจจะเห็นว่าลูกช้างซูบลงไป ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่ได้รับปริมาณน้ำนมน้อยเกินไป เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดิมในช่วงที่ลูกช้างอยู่ในคอกในป่า ตั้งใจจะลดนม เพราะอยากให้ลูกช้างร้อง หวังจะให้แม่ช้างได้ยินเสียงลูกช้าง ทีมสัตวแพทย์ จึงได้มีข้อเสนอแนะนำว่าควรจะปรับเพิ่มช่วงเวลาการป้อนนมให้ถี่ขึ้น โดยให้ป้อนทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง หากลูกช้างได้รับปริมาณน้ำนมเต็มที่ในแต่ละวัน เป็น 18 – 20 ลิตร ทางทีมสัตวแพทย์คาดว่าสุขภาพร่างกายของลูกช้างจะสามารถกลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง เนื่องจากอายุของลูกช้างตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 4 – 5 เดือน ทางด้าน น.สพ. ดร. สิทธิเดช มหาสาวังกุล ตำแหน่งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.อ.ป ได้มีข้อเสนอแนะว่าควรจะเริ่มให้ลูกช้างหัดกินกล้วยน้ำว้าสุก และธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง และลูกเดือย ต้มสุกบดให้ละเอียดผสมลงในน้ำนมให้กิน ส่วนปลายข้าวต้มสามารถปรับเพิ่มให้กินได้ แต่ต้องคอยสังเกตว่าช้างขี้เป็นปกติหรือไม่ เนื่องจากต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกช้างเกิดภาวะผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้จัดชุดเฝ้าระวังสัตว์ผู้ล่า และดูความปลอดภัยรวมทั้งสังเกตพฤติกรรมลูกช้าง ไว้ 2 ชุด ชุดละ 3 คน สลับกัน รอลุ้นว่าการปล่อยลูกช้างป่าพลัดหลงกลับคืนสู่ธรรมชาติจะสำเร็จหรือไม่ หวังว่าแม่ช้างจะมารับหนูไวๆนะลูก