หมอจุฬา ชี้ การควบคุมโรคต้องมีมาตรฐานเดียว ไม่ใช่สองมาตรฐาน

หมอธีระ ย้ำการกักตัว 14 วันนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่สามารถลดระยะเวลาได้ ชี้ การควบคุมโรคต้องมีมาตรฐานเดียว

วันที่ 8 ก.ค.63 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ว่า วันนี้ เลขคู่ มาจากต่างประเทศ อินเดีย และอินโดนีเซีย
ไม่มีอาการ ขอให้ปลอดภัยและหายไวไวครับ ที่น่าสนใจคือ ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ แต่ตรวจครั้งที่สอง ช่วงวันที่ 11-12 ของการกักตัว จึงตรวจเจอ

ภาพจากอีจัน
นี่ตอกย้ำความสำคัญของ "การกักตัว 14 วัน" มาตรการการป้องกันและควบคุมโรคควรมีมาตรฐานเดียว…ไม่ใช่สองมาตรฐานแบบทำแบบนึงกับพวกนึง ทำอีกแบบกับคนอื่น เพราะมาตรการที่คลอดออกมาต้องอิงความรู้วิชาการ มุ่งเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้เกิดการเล็ดรอด หลุดเข้ามาแพร่ในชุมชนวงกว้าง การจะคบหากับใครสักคน ไม่ว่าจะในชาติหรือต่างชาติ แม้จะผูกสมัครรักใคร่กันเพียงใด ก็ต้องยืนบนความเป็นเหตุเป็นผล ยิ่งหากเป็นภาวะโรคระบาดที่ยังไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกันแล้ว…ความเกรงใจเพื่อรักษาความรักใคร่กันกับเพื่อน แต่ยอมแลกด้วยความเสี่ยงต่อชีวิตนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องครับ ย้ำ…การกักตัว 14 วันนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่สามารถลดระยะเวลาได้ สัจธรรมคือ ต่างชาติมีโรคระบาดรุนแรง…เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ครับ ไม่กักเค้า ก็ต้องกักเรา…เพื่อความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนนะครับ