ป.ป.ส. ควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่น จากกว่า 50,000 ไร่ เหลือไม่ถึง 200 ไร่

สำนักงาน ป.ป.ส. เผยความสําเร็จ ควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่นจากกว่า 50,000 ไร่ เหลือไม่ถึง 200 ไร่ ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เปิดเผยผลการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่นในประเทศไทยโดยสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส. ในฤดูกาลปลูกปี 2563 พบพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นรวม 224 แปลง เป็นพื้นที่ 143.85 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 46 ซึ่งเป็นจำนวนพื้นที่ปลูกที่น้อยที่สุดในรอบ 40 ปี

ภาพจากอีจัน
สำหรับการลักลอบปลูกฝิ่นพบใน 18 อำเภอ 6 จังหวัด โดยพบมากที่สุดใน จ.เชียงใหม่ 80.68 ไร่ รองลงมาเป็น จ.ตาก 43.75 ไร่ จ.แม่ฮ่องสอน 7.65 ไร่ จ.เชียงราย 6.15 ไร่ จ.น่าน 5.14 ไร่ และ จ.พะเยา 0.47 ไร่ ซึ่งทุกพื้นที่ถูกตัดทำลายลงทั้งหมด นายนิยม กล่าวว่า ในทุกปีสำนักงาน ป.ป.ส. จะทำการสํารวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่น โดยการใช้การบินสำรวจ ร่วมกับการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ ผ่านระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) และการสํารวจจากระยะไกล (Remote Sensing) เนื่องจากการปลูกฝิ่นจะปลูกในภูมิประเทศและมีสภาพอากาศที่เหมาะสม ฝิ่นจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่อากาศหนาวเย็นและมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตร ขึ้นไป ทำให้พื้นที่ปลูกฝิ่นอยู่ในป่าเขาที่ห่างไกลและความยากลําบากในการเดินทางเข้าพื้นที่ “ในอดีตเมื่อปี 2527 เคยสํารวจพบพื้นที่ปลูกฝิ่นมากที่สุดถึง 54,854 ไร่ แต่ด้วยการพัฒนาบนที่สูงตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงตามลำดับจนกระทั่งในปี 2546 เหลือเพียง 5,266 ไร่ และพื้นที่ปลูกฝิ่นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเหลือเพียง 143.85 ไร่” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว
ภาพจากอีจัน
อย่างไรก็ดี หนึ่งในมาตรการสำคัญในการควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่น คือ การตัดทําลาย โดยหน่วยงานในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 ตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 ตำรวจภูธรภาค 5 กรมการปกครอง และสำนักงาน ป.ป.ส. ที่รับผิดชอบพื้นที่ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ การพัฒนาทางเลือก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนพื้นที่สูง โดยดําเนินการตามพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานโครงการหลวงมาตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งต่อมาในปี 2552 ได้มีการดำเนินงานตาม “โครงการขยายผลโครงการหลวง เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน” และในปี 2557 มีการจัดตั้ง “ศูนย์อํานวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อําเภออมก๋อย” ทั้งสองโครงการได้ดําเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทําให้สามารถควบคุมพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นได้เป็นอย่างดี
ภาพจากอีจัน