อย่าพลาด ! สักครั้งในชีวิต ต้องได้เห็นดาวหางนีโอไวส์

18-23 กรกฎาคมนี้ ห้ามพลาดชม ดาวหางนีโอไวส์ 6,000 ปี มีครั้งเดียว

18-23 กรกฎาคมนี้ คนไทยมีลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า
หลังจากช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และผู้คนบนโลก เนื่องจากปรากฏสว่างเหนือน่านฟ้าในหลายประเทศ
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.63 เป็นต้นไป จะเห็นดาวหางนีโอไวส์ปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ซึ่งประมาณวันที่ 18-22 ก.ค.63 คาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และแม้เป็นช่วงแสงตอนเย็น แต่ก็มีโอกาสที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 ก.ค. เป็นคืนเดือนมืดไม่มีแสงจันทร์รบกวน
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ดาวหางนีโอไวส์เป็นดาวหางคาบยาว ข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 63 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าความสว่างลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย
ภาพจากอีจัน