สาวประเภทสอง ร้อง สคบ. ผ่าตัดแปลงเพศผิดรูป มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้

สาวประเภทสอง ช้ำใจ ผ่าตัดแปลงเพศ แต่กลับใช้งานไม่ได้ ร้อง สคบ. เอาเรื่องโรงพยาบาล

23 ก.ค. 63 ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วยน้องออเก้า อายุ 23 ปี ผู้เสียหายสาวประเภทสอง เข้าร้องทุกข์กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อให้ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยเรื่องค่าเสียหายหลังทำศัลยกรรมแปลงเพศ แต่ใช้งานไม่ได้ บริเวณแผลมีกลิ่น น้ำเหลืองไหล

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

น้องออเก้า เปิดเผยว่า ได้ติดต่อกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านสาธุประดิษฐ์ เพื่อทำศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศในราคา 160,000 บาท ซึ่งตอนที่คุยรายละเอียดกับแพทย์ ระบุว่าสามารถทำให้อวัยวะเพศมีความลึกมากกว่า 6 นิ้ว แต่หลังจากผ่าตัดเสร็จ กลับไม่เป็นตามที่โฆษณา หรือตกลงไว้ เนื่องจากอวัยวะเพศรูปทรงเบี้ยว มีแผล มีหนอง และลึกเพียง 3 นิ้ว จึงเข้าปรึกษากับแพทย์ ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ทำการแยงโม (การนำท่อนเหล็กยัดเข้าอวัยวะเพศเพื่อให้คงรูป เป็นขั้นตอนหนึ่งหลังผ่าตัดแปลงเพศ) ซึ่งตนเองทำอยู่เป็นประจำ และทานยาต่อเนื่อง

ภาพจากอีจัน

แต่ผ่านมากว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว อวัยวะเพศยังไม่เข้ารูป รวมถึงเวลามีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มก็มีอุปสรรคทำให้ต้องเลิกรากับแฟนหนุ่มไป และยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ไม่สามารถรับงานได้

น้องออเก้า บอกอีกว่า เมื่อติดต่อกลับไปยังโรงพยาบาล แพทย์ได้แนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขลำไส้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 190,000 บาท โดยทางโรงพยาบาลจะมีส่วนลดให้ แต่ตนมองว่าไม่เป็นธรรม จึงเดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อ สคบ. เพื่อขอความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ยอมรับว่าตอนแรกตนต้องการให้โรงพยาบาลรับผิดชอบดำเนินการแก้ไข แต่ขณะนี้ไม่ไว้ใจโรงพยาบาลดังกล่าวอีกแล้ว


ด้าน พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ เลขานุการกรม สคบ. ซึ่งเป็นผู้รับเรื่อง เผยว่า ส่วนใหญ่ถ้าหากผู้เสียหายมาร้องเรียนเรื่องผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแปลงเพศ หรือ ผ่าตัดหน้าอก ก็จะส่งเรื่องเข้ากองโฆษณา ถ้าหากข้อเท็จจริง ผู้บริโภคเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ กองโฆษณาก็จะเรียกเข้าเจรจา โดยนัดทั้งผู้ร้องกับผู้ประกอบการ เข้ามาเจรจาพร้อมกัน เพื่อตกลงร่วมกันว่าความผิดเกิดขึ้นอย่างไร แล้วจะมีการชดเชยค่าเสียหายอย่างไร ซึ่งเป็นมาตรการที่ทาง สคบ. กำหนดอยู่แล้ว

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

สำหรับ สคบ. ถ้าเป็นเรื่องลักษณะนี้ หากมีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอื่นๆ ด้วย เช่น พ.ร.บ.สถานพยาบาล ก็จะส่งเรื่องไปที่ สบส. แต่ถ้าตรวจสอบแล้วมีความผิดเกี่ยวกับจรรยาบรรณแพทย์ ก็จะประสานทางแพทย์สภา เพื่อส่งไปให้ดำเนินการต่อ

สำหรับสถิติในแต่ละปีก็จะมีผู้เสียหายในเคสลักษณะแบบนี้มาร้องเรียนปีละ 10-20 เคส และมีแนวโน้วเพิ่มมากขึ้น ในส่วนเคสของน้องออเก้า หลังจากนี้ถ้าสอบปากคำแล้วข้อเท็จจริงชัดเจน ก็จะเชิญทางสถานประกอบการเข้ามาชี้แจงต่อไป