ทาสีทับ ลายรดน้ำ วัดหมื่นล้าน โบราณอายุกว่า 104 ปี!

กรมศิลป์เริ่มกู้คืนภาพโบราณวัดหมื่นล้าน พบถูกทาทับสามชั้นแต่ยังพอมีโอกาส ส่วนจิตรกรรมฉลุลายปิดทองหลังพระประทานหมดลุ้นเพราะถูกสกัดปูนทิ้งไปหมดแล้ว

จากกรณีภาพวาด “ลายรดน้ำ” โบราณอายุกว่า 104 ปี บนบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน อ.เมืองเชียงใหม่ ถูกช่างทาสีทับระหว่างการบูรณะซ่อมแซมจนทำให้ภาพเดิมหายไป ก่อนที่จะพบอีกว่าภาพพิมพ์ฉลุลายปิดทอง บนผนังด้านหลังองค์พระประธานยังถูกช่างสกัดทิ้งและฉาบปูนใหม่ทับ ทำให้ชาวเชียงใหม่ที่ทราบข่าวพากันเสียดาย เพราะภาพวาดและจิตรกรรมฝางผนังดังกล่าวนับเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และทรงคุณค่า เคียงคู่ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่

ภาพจากอีจัน

ล่าสุดช่วงเช้าวันนี้ นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่วัดหมื่นล้าน โดยใช้น้ำยาเคมีเพื่อการอนุรักษ์เข้าตรวจสอบบานประตูที่ถูกทาสีทับ พบว่าภาพวาดเดิมไม่ได้ถูกขุดลอกออก เป็นการทาสีทับลงไป โดยมีสีเคลือบผิวอยู่ถึงสามชั้น เป็นสารอีพ็อกซี่สีขาวที่ถูกทาเคลือบทับภาพวาดเป็นชั้นแรก จากนั้นถูกทาทับด้วยสีแดงเป็นที่สอง และ สีดำเป็นชั้นที่สาม จากการใช้น้ำยาทางเคมีทดสอบการทำละลาย พบว่าสารอีพ็อกซี่ยังไม่เซ็ตตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ยังมีโอกาสกู้คืนภาพ หลังจากนี้จะต้องดูว่าจะต้องใช้น้ำยาเคมีตัวไหนเพื่อทำละลายและดึงภาพกลับมาให้ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาลา หากเร่งรีบอาจทำให้ภาพเดิมหลุดเสียหาย ส่วนภาพเดิมจะกลับมาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่นั้น บอกไม่ได้ แต่จะทำให้ดีที่สุด

ภาพจากอีจัน

ส่วนภาพจิตกรรมฝาผนังด้านหลังองค์พระประธาน พบว่า เป็นภาพพิมพ์ฉลุลายปิดทอง มีลวดลายที่ไม่เชื่อมต่อกับลวดลายที่ปรากฏบนเสาและจุดอื่น ๆ ของวิหาร น่าจะเป็นการบูรณะในยุคสมัยหนึ่ง แต่ก็ถือว่ามีอายุมาก พอสมควร คาดว่าจะทำขึ้นราวปี พ.ศ.2400 ปลาย ๆ ลวดลายที่หายไปก็มีความสำคัญ ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมหนึ่งของยุคสมัยผ่านมา โดยจุดนี้คงรื้อฟื้นกลับมาไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีการสกัดปูนออกไปทั้งหมดแล้ว และ มีการฉาบปูนใหม่จนไม่หลงเหลืออะไรอีก

ภาพจากอีจัน

นายเทอดศักด์ กล่าวว่า วิหารหลังนี้ก็เหมือนกับอาคารสถานที่เก่าแก่อื่น ๆ ที่มีการแก้ไขต่อเติมมาหลายครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับการซ่อมแซมว่าถูกวิธีหรือไม่ อย่างเช่นที่วิหารวัดหมื่นล้านที่การบูรณะซ่อมแซมขาดความเข้าใจ หลังจากนี้ไปสำนักศิลปากรที่ 7 ก็จะขอความร่วมมือไปยังเจ้าของอาคารสถานที่ที่เก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม หรือ พื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้ผู้ครอบครองดูแลมีความรู้ความเข้าใจในการบำรุงรักษาสถานที่ เพื่อช่วยกันรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ ส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังในศึกษาเรียนรู้

ภาพจากอีจัน

ด้านพระครูสมุห์ประจบ ฐานะวุฒิโฑ เจ้าอาวาสวัดหมื่นล้าน กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาตมาไม่มีเจตนาทำลายให้เสียหาย เพียงแต่ในการบูรณะก็ต้องการทำออกมาให้ดีที่สุด แต่ยอมรับว่าไม่ได้ศึกษามาก่อน อาจทำไปโดยพลการ ไม่ได้ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะพยายามแก้ไขกลับมาให้ดีที่สุด เรื่องที่เกิดขึ้นยอมรับข้อติชมและจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่สอนอาตมาให้ได้ทราบถึงขั้นตอนทุกอย่างในการบูรณะศาสนสถาน

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

เจ้าอาวาสบอกว่า นอกจากวิหาร ทางวัดยังไม่มีแผนการบูรณะซ่อมแซมในส่วนอื่น แต่หากจะมีขึ้นก็จะมีการปรึกษาหารือกับกรมศิลปากรก่อนอย่างแน่นอน