สสส.จัดเสวนา “ดื่มแล้วขับ” ผลักดันการแก้ปัญหาเมาแล้วขับอย่างยั่งยืน

สสส. – ศวปถ. จัดเสวนาถอดบทเรียนความสูญเสียจากเหตุเมาชนผู้อื่น ชี้ ปัญหา “ดื่มแล้วขับ” เป็นภัยสังคม ถึงเวลาที่นักดื่มต้องตระหนักถึงส่วนรวม “ถ้าดื่มมาก็อย่าขับ”

ปัญหาเมาแล้วขับในสังคมไทยมีมากและมีมานาน เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนยิ่งไม่ต้องถามถึง เพราะที่ผ่านมามักมีข่าวมาให้เห็นอยู่ตลอดตามหน้าสื่อต่าง ๆ และอาจมีที่ไม่ได้เป็นข่าวอีกด้วย หลายหน่วยงานหรือหลายองค์กรต่างก็พยายามรณรงค์และผลักดันการแก้ปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด

ภาพจากอีจัน
ล่าสุดวันนี้(13 ส.ค. 63) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดเสวนาในหัวข้อ “ดื่มแล้วขับ” ผลกระทบทางสังคมกับกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อถอดบทเรียนจากผลกระทบทางสังคมจากคดีเมาแล้วขับ พร้อมข้อเสนอให้มีการแก้ปัญหาดื่มแล้วขับอย่างเร่งด่วน
ภาพจากอีจัน


นายวิชาญ นายสอง ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ที่เคยก่อเหตุ “ดื่มแล้วขับ เมาแล้วขับ” จนเกิดอุบัติเหตุ ขับรถชนตำรวจได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องตัดขา 1 ข้าง และกลายเป็นผู้พิการ กล่าวว่า จากครั้งที่ตนเคยดื่มแล้วขับ ยอมรับและบอกตามตรงเลยว่า ขาดสติ หลายคนที่ดื่มแม้จะบอกว่าดื่มไม่เยอะ ยังไม่เมา แล้วมาขับรถ นั่นก็คือการขาดสติแล้ว เพราะยังไงก็คือคุณดื่มเข้าไปแล้ว ไม่มีคนเมาที่ไหนบอกว่าตัวเองเมาถ้าจะต้องขับรถ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่ง นายวิชาญ ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่ตามมาจากการขาดสติครั้งนั้นก็คือ การลงโทษจากสังคมอย่างหนัก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงครอบครัว ลูก และหน้าที่การงาน

ภาพจากอีจัน


ด้าน พระสุราษฎร์ เตชวโร ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่เคย “ดื่มแล้วขับ เมาแล้วขับ” แล้วขับรถชนนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังใน จ.เชียงราย เสียชีวิต 2 ราย จากเหตุการณ์นั้นทำให้ตัวพระสุราษฎร์คิดทบทวน ยอมรับผลที่ตามมาทุกอย่าง และด้วยความรู้สึกผิดที่ตนเป็นต้นเหตุทำให้ 2 ชีวิตต้องมาจากไป จึงได้ตั้งใจบวชอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตทั้งสอง และใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงตัวเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ ได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นของตนนี้มาเผยแพร่ให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนในสังคมต่อไป

ภาพจากอีจัน


โดย นายวิชาญ ได้เป็นตัวแทนของผู้ที่เคย “ดื่มแล้วขับ เมาแล้วขับ” ฝากถึงนักดื่มทุกคนด้วยว่า ถ้าคุณดื่มก็อย่าขับ นั่นเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วหากเกิดเรื่องเลวร้ายตามมา การเยียวยาไม่ใช่เรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของการยอมรับผิด สำนึกผิด แล้วรับโทษตามกฎหมาย และยังต้องรับโทษจากสังคมอีกด้วย

ภาพจากอีจัน


นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้กล่าวถึงการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสถิติการดำเนินคดีขับรถในขณะเมาสุรา ยังมียอดที่สูงอยู่ และบางคดีผู้ก่อเหตุมีการต่อสู้ทางกฎหมายด้วยซ้ำ ทั้งที่ตัวเองเมาแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งที่ผ่านมาช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด และในประเทศมีการล็อกดาวน์กิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ยอดอุบัติเหตุดื่ม-เมาแล้วขับลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มผ่อนปรน ปรากฏว่า ดื่ม-เมาแล้วขับก็กลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งที่พบตามมาด้วยนั่นก็คือด่านตรวจเมาหายไป หรือมีการตั้งด่านตรวจเมาน้อยลง


“แม้สถานการณ์อุบัติเหตุบ้านเราจะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการทำงานเชิงรุกของทุกภาคส่วน รวมทั้งการที่ สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนที่เข้มแข็ง อาทิ เครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เครือข่ายลดอุบัติเหตุ มูลนิธิเมาไม่ขับ ชมรมคนห่วงหัว เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงพบว่าคดีเมาแล้วขับที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและเสียชีวิตหลายคดียังมีช่องว่างทางกฎหมาย ผู้ก่อเหตุไม่ได้รับโทษอย่างที่ควรจะเป็น จึงขอสนับสนุนให้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพในคดีจราจร โดยเฉพาะการใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือกว่าพยานบุคคลมาหักล้างคำกล่าวอ้าง และควรจัดให้มีระบบกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างตำรวจ อัยการ และศาล สร้างความเชื่อมั่นทางคดีตั้งแต่กระบวนการต้นทาง และควรกำหนดเป้าการสุ่มตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นเหมือนในหลาย ๆ ประเทศ” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน