อัปเดตภารกิจส่งลูกข้างป่าพลัดหลงกลับโขลง

กรมอุทยานฯ อัปเดตภารกิจส่งลูกช้างป่ากลับโขลง ล่าสุดแม่ช้างและโขลงมารับที่คอก แต่ลูกช้างยังดื้อไม่ยอมกลับป่าด้วย

ความคืบหน้ากรณีพบลูกช้างป่า อายุประมาณ 2-3 เดือน พลัดหลงโขลง เดินเข้ามาในเขตหมู่บ้านเพียงตัวเดียว เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา จากนั้นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้นำมาดูแล และหาทางเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ภาพจากอีจัน

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (19 ส.ค. 63) เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อัปเดตลูกช้างป่าห้วยขาแข้ง ว่า โขลงแม่ช้างวนมารับลูกช้างพลัดหลงป่าห้วยขาแข้งอีกรอบแล้ว แต่ลูกช้างยังดื้อไม่ยอมไปกับแม่

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ได้มีช้างโขลงแม่ส่งช้างตัวผู้เป็นผู้แทนมารับลูกช้างป่าห้วยขาแข้งพลัดหลงคืนป่า โดยเดินเข้ามาหาลูกช้าง แล้วเอางวงมาสัมผัสกับตัวลูกช้างพลัดหลง แต่ลูกช้างไม่ยอมเดินตามกลับเข้าป่า ล่าสุดเมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2563 เริ่มมีเสียงของโขลงช้างดังมารอบป่า มาทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของคอกเตรียมปล่อย บริเวณหอต้นผึ้ง หลังได้ยินเสียงร้อง ลูกช้างพลัดหลงมีพฤติกรรมหางชี้ ชูงวง วิ่งวนรอบคอก จากนั้นมีฝูงช้างป่า จำนวน 14 ตัว มีลูกช้างอายุใกล้เคียงลูกช้างพลัดหลง จำนวน 2 ตัว เข้ามาในพื้นที่บริเวณลานหญ้าหอต้นผึ้ง ทางด้านฝั่งตะวันตก ส่วนลูกช้างพลัดหลงห้วยขาแข้งแสดงพฤติกรรมเดินวนซ้ำไปซ้ำมาบริเวณคอก ซึ่งโขลงช้างอยู่ห่างจากคอก 80 เมตร

ภาพจากอีจัน

จนกระทั่งเวลา 03.40 น. ช้างพี่เลี้ยงจำนวน 1 ตัว และแม่ช้างจำนวน 3 ตัว เข้าใกล้บริเวณคอกอีกครั้ง และเข้าใกล้ตัวลูกช้างพลัดหลง มีการเอาตัวถูไม้ไผ่ข้างคอกเพื่อทำความคุ้นเคยสนิทกับลูกช้างพลัดหลง และต้อนลูกช้างให้เข้าบริเวณมุมคอก มีช้างพี่เลี้ยงตัวหนึ่ง ได้เอางวงตวัดที่ขาของลูกช้างพลัดหลง และพยายามจะดึงไว้ เพื่อชวนให้กลับเข้าฝูง แต่ลูกช้างพลัดหลง เดินหนี มีท่าทีปฏิเสธ หลบอยู่หลังต้นไม้ ก่อนที่โขลงช้างป่าได้เดินเลาะชายน้ำเลียบป่าทางทิศตะวันตกของคอกเพื่อกลับเข้าป่า

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ในการประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference โดยได้ให้หาวิธีปล่อยลูกช้างพลัดหลงคืนป่าให้สำเร็จอย่างปลอดภัย เป็นไปตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งให้ทบทวนปรับปรุงในข้อปฏิบัติที่เป็นสาเหตุของความไม่สำเร็จ และให้ดูแลสุขภาพของลูกช้างให้แข็งแรงสมบูรณ์อีกด้วย