ผู้ว่าฯน่าน คาดการณ์สถานการณ์จะคลี่คลายภายใน 5 วัน

เร่งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาช่วยสูบระบายน้ำที่ท่วมขังหลายหมู่บ้านในอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

วันนี้ ( 24 สิงหาคาม 63 ) สถานการณ์น้ำท่วม อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เข้าสู่วันที่ 4 ระดับน้ำเริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แต่บางจุดยังมีน้ำท่วมสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำ ล่าสุด นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สั่งการให้เร่งระบายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านให้เร็วที่สุด หลังประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและมูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนในพื้นที่

ภาพจากอีจัน



ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าล่าสุดระดับน้ำยังคงท่วมขังสูงมากกว่า 2 เมตรที่บ้านต้นหนุน บ้านดอนแท่น และบ้านหนอง เนื่องจากมีคันดินล้อมรอบ คันดินดังกล่าวเดิมสร้างโดยมีวัตถุประสงค์กั้นน้ำจากลำน้ำน่าน โดยกรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายมวลน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ในปีนี้ปรากฎว่าน้ำสา ได้ไหลข้ามถนนมาส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลุ่มต่ำ จึงกักน้ำสูงกว่า 2 เมตร โดยคันดินดังกล่าวมีกล่องเกเบี้ยนอยู่ด้านล่าง หากเจาะคันดินแล้ว จะส่งผลให้น้ำปริมาณกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตรในเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ทะลักและอาจจะทำให้คันดินพังเป็นบริเวณกว้างและหากน้ำจากลำน้ำน่านมีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากน้ำจากตอนเหนือไหลมาสมทบ จะส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนบริเวณนั้นหนักกว่าเดิม จึงได้ให้ชลประทานจังหวัดน่านประสานไปยังส่วนกลาง ส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่องมาสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยในพื้นที่ดังกล่าวจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้วจำนวน 3 เครื่อง สูบน้ำลงสู่ลำน้ำน่าน ประกอบกับมีประตูระบายน้ำเดิมอยู่สองแห่ง และมีเครื่องสูบน้ำของเทศบาลตำบลกลางเวียง สูบอยู่ ก็จะช่วยได้อย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าภายใน 5 วัน หากไม่มีน้ำเหนือไหลมาสมทบหรือฝนตกหนักอีก สถานการณ์จะคลี่คลาย ส่วนในระยะยาว จะให้ชลประทานจังหวัดออกแบบเพิ่มประตูระบายน้ำให้พื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยกรมชลประทานจะส่งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว 3 เครื่อง 8 นิ้ว 2 เครื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบาย
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่ 13 หมู่บ้าน 4 ตำบลในอำเภอเวียงสา ซึ่งน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำสา ไหลมาสมทบแม่น้ำน่าน ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 3 พันครัวเรือน ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลืออยู่ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงสา ซึ่งมีทั้งหน่วยทหาร ม.พัน15 มูลนิธิเพชรเกษม และมูลนิธิป่อเต็กตึงได้มาตั้งโรงครัวชั่วคราว ทำอาหารแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย นอกจากนี้ยังมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำสิ่งของอุปโภคบริโภคมาร่วมบริจาคจำนวนมาก เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ จึงได้จัดระเบียบให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนมารับอาหารไปแจกจ่ายเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน และได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง