ไล่เหตุการณ์ โควิด-19 ในไทย จากวันแรกจนถึงวันนี้ ครบ 100 วันที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ

ไทม์ไลน์โควิด-19 ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาในประเทศไทย จนถึงทุกวันนี้ ที่คนไทยเริ่มปรับตัวและหาทางรับมือกับไวรัสร้าย

ณ ตอนนี้ การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เราเรียกง่ายๆ ว่า โควิด-19 ที่เข้ามาระบาดอย่างหนักในประเทศไทย ได้เริ่มคลี่คลายความรุนแรงลงแล้ว แต่ในภาคเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รัฐบาลยังคงต้องมีการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องต่อไป
ยังจำได้ไหม วันแรกที่โควิด-19 เข้ามาแพร่ในโลกเราตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

เริ่มต้นจากช่วงปลายปี 2562 ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตอนกลางของประเทศจีน ในขณะนั้น การแพร่ระบาดยังคงอยู่ในวงจำกัดของประเทศจีนเท่านั้น และยังหาต้นตอของไวรัสนี้ไม่พบ
ช่วงต้นปี 2563 คนไทยเริ่มรู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มากขึ้น เพราะ การแพร่ระบาดเริ่มกระจายวงกว้างเข้าสู่ทางโซนเอเชียอาคเนย์ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นต้น

โดยลักษณะอาการของโรค คือ ตัวร้อน มีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีอาการไอแห้ง เจ็บคอหายใจลำบาก หายใจถี่ เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย อาจมีอาการท้องเสีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะแสดงอาการป่วยใน 5-6 วัน หรืออาจใช้เวลานานถึง 14 วัน ถึงจะแสดงอาการ

ประเทศไทยจึงเริ่มหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสนี้
โดยใช้หลักการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมืออยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก และสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอจาม

ด้านรัฐบาล ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคมีการคัดกรองผู้โดยสารจากเครื่องบิน ในเส้นทางที่บินตรงมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 3 – 10 มกราคม 2563 และเริ่มมีการคัดกรองผู้โดยสารที่กลับมาจากต่างประเทศมากขึ้น

จนกระทั่ง 13 มกราคม 2563 ไวรัสโคโรน่า (ที่เป็นชื่อเรียกในขณะนั้น) ก็เริ่มเข้าสู่ประเทศไทย หลังจากที่มีการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วพบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ 15 ราย จึงมีการส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาและตรวจที่โรงพยาบาลรัฐ 2 ราย (ภูเก็ตและเชียงใหม่) และสถาบันบำราศนราดูร 4 ราย รวม 6 ราย ไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและได้กลับบ้านแล้วจำนวน 9 ราย
ส่วนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายแรกในไทยที่เดินทางกลับมาจากจีน
หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า มากขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 3 จนมาถึงหลัก 10 ราย

คนไทยเริ่มตื่นตระหนก !
มีการกักตุนอาหารและกักตุนแมสก์ หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวเอง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางรายต้องการที่จะเก็งกำไรสินค้า ทำให้ช่วงเวลานั้นแมสก์ขาดตลาด และมีการโก่งราคาสินค้า จนรัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าอย่างเข้มงวด ในขณะที่ตามโรงพยาบาลมีการรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ก็ขาดแคลนอุปกรณ์ในรักษา ทีมแพทย์และพยาบาลขาดอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง จนเกิดเกิดกระแสดราม่าเรื่องนี้ขึ้น จนคนไทยอยู่เฉยไม่ไหวอีกต่อไป มีการเปิดรับบริจาคและช่วยกันบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์มอบให้ตามโรงพยาบาลต่างๆมากมาย

ช่วงเวลานั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ศบค. ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์อันเลวร้ายนี้และเพื่อกระจายข่าวสารที่จำเป็นในการรับมือกับสถานการณ์ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศบค. และมีนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษก ศบค. คอยรายงานสถานการณ์โรคระบาดนี้ในแต่ละวัน

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
15 ม.ค.63 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เป็นระดับ 2 ผ่านไป 1 สัปดาห์ 22 ม.ค.63 กรมควบคุมโรค ได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะ ฉุกเฉิน เป็นระดับ 3 เพื่อติดตามสถานการณ์โรคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด 30 ม.ค.63 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะฉุกเฉิน (Emergency Committee) และประกาศว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่าง ประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern; PHEIC) หลังจากเชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน อันจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข แต่ไม่ได้หมายถึงให้ประเทศทั่วโลกใช้มาตรการจำกัดด้านการค้าต่อจีน หรือจำกัดการเดินทางไปยังประเทศจีน 12 ก.พ.63 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเปลี่ยนชื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็น โควิด-19 (Covid-19) “co” ย่อมาจาก “corona” ส่วน “vi” ย่อมาจาก “virus” และ “d” ย่อมาจาก “disease” เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตราหน้า และทำลายชื่อเสียงของเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หลังจากที่มีผู้คนบางส่วนเข้าใจและเรียกชื่อไวรัสนี้ว่า "ไวรัสอู่ฮั่น" ถัดมาในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนที่เรียกว่าเป็นวิกฤตของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย หลังจากที่เซียนมวย 1 คน ที่เป็น Super spreader แพร่เชื้อทางอากาศให้กับคนที่มาชมมวยในสนามมวยลุมพินี มากกว่า 50 คน เพราะในช่วงนั้นคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยสวมหน้ากากอนามัย 1 มี.ค.63 ไทยพบข่าวเศร้า มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกของไทย ในขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 42 ราย เวลาผ่านไปอีกครึ่งเดือน 14 มี.ค.63 มีที่ป่วยติดเชื้อสะสมเป็น 82 ราย 15 มี.ค.63 ผ่านไป 1 วัน ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 32 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสะสมพุ่งทะลุหลักร้อย และมีจำนวนมากถึง 114 ราย 22 มี.ค.63 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 188 ราย ทำให้ยอดรวมสะสมเป็น 599 ราย ถือได้ว่า ในวันนั้นเป็นการพบผู้ติดเชื้อรายวันมากที่สุดของประเทศไทย หลายบริษัทเริ่มทยอยให้พนักงานกลับไปทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่อาจตามมา ทำให้พนักงานบางคนและประชาชนส่วนใหญ่ต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เศรษฐกิจเริ่มทรุด คนไทยหลายคนเริ่มตกงานกันมากขึ้น จนเกิดโครงการ เราไม่ทิ้งกัน แจกเงินเยียวยาให้กับผู้ตกงาน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 คนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน 24 มี.ค.63 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวม 4 ราย 3 เม.ย. 63 พบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย รวม 19 ราย ก่อนที่จะมีแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. และสั่งห้ามคนไทย-ต่างชาติ เข้าประเทศถึง 15 เม.ย.63
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

วันที่ 22 มี.ค.63 มาถึง วันที่ 8 เม.ย.63 คนไทยวิตกหนัก เพราะ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจำนวนมาก หลัก 100 รายขึ้นทุกวัน

ซึ่ง 8 เม.ย.63 ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 111 ราย
หลังจากบุคลากรทางการแพทย์ต้องระวังไม่ให้ตัวเองป่วยไปด้วย รวมทั้งต้องทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยจนคนไข้อาการหายดี และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชนชาวไทยที่ช่วยกันป้องกันตัวเอง ทำให้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ จนกลับมาอยู่ที่ตัวเลขหลัก 10 อีกครั้ง

17 พ.ค. 63 รัฐฯ ปรับเวลาเคอร์ฟิว เป็นเวลา 23.00 – 04.00 น. และเริ่มผ่อนปรนให้เปิดห้างได้ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น.

2 มิ.ย. 63 ไทยพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในไทย และหลังจากนั้น ก็ยังไม่พบผู้เสียชีวิตอีก รวมยอดผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 58 ราย จนถึงปัจจุบัน (2 ก.ย.63)

15 มิ.ย.63 มีประกาศยกเลิก เคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน แต่ยังคงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่เช่นเดิม

โดยในขณะนี้ทีมแพทย์และทีมนักวิจัยของประเทศไทยก็กำลังเร่งมือเพื่อศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เพื่อนำไปใช้ปกป้องคนไทยและเพื่อมนุษยชาติ ซึ่งนอกเหนือจากการค้นหาวัคซีนแล้ว ยังได้มีการศึกษาพบว่า พลาสมาของผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว สามารถนำมาช่วยในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ เพราะ จะมีภูมิต้านทานไวรัสตัวนี้ ทางสภากาชาดไทย จึงเชิญชวนพี่น้องคนไทยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว มาร่วมกันบริจาคพลาสมา เพื่อส่งต่อการช่วยเหลือไปสู่ผู้ป่วยอาการหนักต่อไป

ภาพจากอีจัน
26 พ.ค.63 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ (2 ก.ย.63) เป็นวันที่ประเทศไทยไร้ผู้ติดเชื้อในประเทศครบ 100 วันแล้ว แต่ที่ยังคงมีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มนั้น เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) รัฐบาลและศบค. จึงเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆมากขึ้น คนไทยก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบจะเหมือนปกติ แต่เป็นรูปแบบวิถีใหม่ หรือที่เราเรียกจนติดปากว่า New Normal เพราะ ในขณะนี้เรายังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กลับมารุนแรงอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเรื่องนี้คนไทยส่วนมากยังคงกังวลกันอยู่ และที่ทำให้คนไทยผวากันเป็นแถบ คือ เหตุการณ์ที่จังหวัดระยอง เมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่มีทหารชายชาวอียิปต์เดินทางเข้าประเทศไทย และไม่เข้ารับการกักตัวที่ State Quarantine และไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้า จนมีการตรวจพบว่าชายต่างชาติคนดังกล่าว ติดโควิด-19 และได้มีการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด ซึ่งผลตรวจออกมาเป็นลบ เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการการป้องกันกันใหม่อีกครั้ง เพื่อความรัดกุมมากยิ่งขึ้น เมื่อเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง ซาไป กลายมาเป็น จ.เชียงใหม่ แทน เมื่อวันที่ 19-20 ส.ค. ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเเถลงเกี่ยวกับกรณีหญิงไทย 2 ราย ที่มีกระเเสข่าวว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลปรากฏว่า หญิงไทยทั้ง 2 รายนี้ เป็นเพียงการตรวจพบสารพันธุกรรม หรือ ซากเชื้อของไวรัสโควิด -19 เท่านั้น และไม่สามารถที่จะเเพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ โดยรายเเรกเป็นผู้ป่วยเดิม ส่วนรายที่ 2 นั้นยังคงต้องรอการตรวจข้อมูลทางระบาดวิทยาให้เเน่ชัดอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ราย อยู่ในความดูแลของ โรงพยาบาลแล้ว เเละยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดต่อไป พร้อมยืนยันว่า ยังไม่ใช่การระบาดของโควิด-19 รอบ 2 อย่างแน่นอน ขอให้พี่น้องคนไทย สบายใจและมั่นใจในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้
ภาพจากอีจัน
และล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ส.ค.63 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีข่าวดี ที่น่าจะทำให้พี่น้องชาวไทยสบายใจขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง นักวิจัยไทยสามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากใบยาพืชได้สำเร็จ หลังทดลองฉีดในลิง แล้วลิงมีความปลอดภัย ไม่ปรากฏมีผลข้างเคียง และ ลิงมีระดับภูมิคุ้มกันสูงมาก สามารถยับยั้งไวรัสได้ แม้จะยังไม่มีผลวิจัยชี้ชัดว่า “สามารถใช้กับคนได้จริง” และยังคงต้องมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนต่อไป แต่ถึงอย่างไร ก็ถือว่าเป็นข่าวดีที่นักวิจัยของไทย สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (2 ก.ย.63) ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยสะสมอยู่ที่ 3,425 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศไทย 2,444 ราย และผู้ติดเชื้อที่อยู่ใน State Quarantine อีก 488 ราย หรือหากแบ่งตามภาค เป็นภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 112 ราย ภาคกลาง 629 ราย ภาคใต้ 744 ราย กรุงเทพฯและนนทบุรี 1,845 ราย รวม 3,425 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิต 58 ราย รักษาหายดี 3,274 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 93 ราย
ภาพจากอีจัน
ถึงแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเราจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่เราก็ยังประมาทไม่ได้ ยังต้องมีการป้องกันตัวเองอยู่เสมอ เพราะ เรามีตัวอย่างให้เห็นแล้วในบางประเทศที่การแพร่ระบาดรอบ 2 กลับมาหนักและรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งในขณะนี้ บางประเทศก็ยังคงน่าเป็นห่วงอย่างมาก อีจันขอเป็นกำลังใจทุกคน ทุกเชื้อชาติ ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้นะคะ