ปฏิบัติการปิดฉาก “จูน บ่อดิน” ล่าทลายทั้งเครือข่ายยาเสพติด

บช.ปส. ทลายเครือข่าย “จูน บ่อดิน” แก๊งค้ายาเสพติดรายใหญ่พื้นที่ภาคกลาง

(15 ก.ย. 63) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดย พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผบช.ปส., พล.ต.ต.พรชัย เจริญวงศ์ รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ รอง ผบช.ปส./โฆษก บช.ปส., พล.ต.ต.มงคล วรุณโณ รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.กฤษณ์วาฤทธิ์ ผบก.ปส.1, พล.ต.ต.วัชรินทร์ บุญคง ผบก.ปส.2, พล.ต.ต.วัชระ ทิพย์มงคล ผบก.ปส.3, พล.ต.ต.วุฒิพงษ์ นาวิน ผบก.ปส.4, พล.ต.ต.บัณฑิต ทิศาภาค ผบก.สกส., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.ขส., พล.ต.ต.ภาณุวิชญ์ ทองยิ้ม ผบก.อก.บช.ปส., พล.ต.ต.หญิงวนิดา หาญบุญเศรษฐ ผบก.ประจำ บช.ปส., พ.ต.อ.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผบก.ปส.3 เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นตามแผนสยบไพรี 63/19 "ปิดฉากเครือข่าย จูน บ่อดิน" จับกุม ตรวจค้น ยึดทรัพย์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และเชียงราย จำนวน 34 จุด

“จูน บ่อดิน” หรือ นายจิตพันธ์ มีเมือง อายุ 30 ปี ชาว อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี นักค้ายาเสพติดรายใหญ่พื้นที่ภาคกลาง ที่แม้เจ้าตัวจะถูกจับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 63 แล้ว ที่บริเวณสี่แยกไหสี่หู ต.ไม้ดัด อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และยังได้สืบสวนขยายผลจนสามารถตรวจยึดยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) 4,500,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ตู้ของนายจิตพันธ์ หรือจูน ซึ่งจอดไว้ที่ร้านรับฝากรถแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.สิงห์บุรี แต่เครือข่ายยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุม นายพรเทพ ภู่เจริญวณิชย์ ขณะบวชเป็นพระ และบิณฑบาตอยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดยาเสพติด ก่อนนำตัวไปสึกจากการเป็นพระสงฆ์ เพื่อนำตัวไปดำเนินคดี

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน


นอกจากนี้ ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ยังเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ใน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เพื่อจับกุม นายอัจฉริยะ ชื่นชม

ภาพจากอีจัน
สำหรับนายพรเทพ และ นายอัจฉริยะ นับเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในเครือข่ายยาเสพติดของ จูน บ่อดิน โดยทั้งคู่ ทำหน้าที่หาลูกค้ายาเสพติด และดำเนินการเรื่องเงินค่ายาเสพติดให้กับ จูน บ่อดิน จากการสอบถามนายอัจฉริยะ ยอมรับว่า รู้จักกับ จูน บ่อดิน มานานหลายปีแล้ว เนื่องจากตนเองเป็นช่างสักลายบนร่างกาย ซึ่งจูนบ่อดินก็มักจะมาสักกับตนเองเรื่อยๆ โดยปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แม้นายอัจฉริยะ จะให้การปฏิเสธ แต่ตำรวจมีหลักฐานชัดเจนว่านายพรเทพ และนายอัจฉริยะ มีการติดต่อกับ จูน บ่อดิน อย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อความการสนทนาซื้อขายยาเสพติด ภาพถ่าย หมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อโอนเงินค่ายาเสพติด และหมายเลขโทรศัพท์ลูกค้าจำนวนมาก เพื่อติดต่อนำยาเสพติดไปปล่อยกระจายในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ จังหวัดสิงห์บุรี และลพบุรี ทั้งยังเป็นผู้ดูแลเรื่องการโอนเงินค่ายาเสพติดของคนอื่นๆ ให้กับจูน บ่อดินด้วย ขณะที่อีกชุดสยบไพรี ได้ไล่จับตัว นายอานนท์ กิรัมย์ หรือปลานิล ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีค้ายาเสพติด กลางไร่ข้าวโพดที่ติดกับบ้านพัก หลังนำกำลังเข้ามาตรวจค้นแล้วไม่พบตัวผู้ต้องหา ตำรวจจึงใช้โดรนบินสำรวจรอบบริเวณบ้าน และพบความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาอยู่ด้านหลังบ้าน ที่กำลังวิ่งหนีเข้าไปในไร่ข้าวโพดลึกไปเกือบ 1 กิโลเมตร จากการสืบสวน ข้อมูล พบว่า นายอานนท์ เป็นผู้ต้องหารายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ จูน บ่อดิน แต่เจ้าตัวรับเพียงว่ารู้จักกับ จูน บ่อดิน แต่ไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามที่จูนถูกจับ แต่ตำรวจพบเห็นพฤติกรรมต้องสงสัยขณะที่ผู้ต้องหาวิ่งหลบหนีการจับกุม ได้โยนโทรศัพท์มือถือทิ้งเข้าไปในไร่ข้าวโพด ตำรวจจึงช่วยกันค้นหาเกือบ 1 ชั่วโมง และก็เจอโทรศัพท์มือถือสีดำ ถูกปิดเครื่องตกอยู่บนดิน จึงเก็บมาเป็นหลักฐานและสืบสวนหาผู้เชื่อมโยงต่อ
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน



ปฏิบัติการปิดฉาก “จูน บ่อดิน” เกิดจากเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ตำรวจจับ นายแก้ว แซ่ซุ่ง ผู้ต้องหาอีก 1 คนของเครือข่ายนี้ โดยจับได้ขณะขับรถกลับที่พักย่านลาดพร้าว ซึ่งนายแก้วถือเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญของเครือข่าย จูน บ่อดิน ทำหน้าที่ติดต่อกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากนายแก้วรู้จักกับนายทุนเป็นการส่วนตัว ทำให้สามารถนำยาเสพติดเข้ามาได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องวางเงินมัดจำ ทำให้กลุ่มของ จูน บ่อดิน สามารถขยายเครือข่ายได้หลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว

สำหรับนายจิตพันธ์ หรือ “จูน บ่อดิน” นับว่าเป็นนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง ที่สามารถรับยาเสพติดมาจากพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ได้ครั้งละจำนวนมาก ก่อนนำยาเสพติดมาเก็บไว้ในโกดัง จังหวัดสิงห์บุรี จากนั้นจะให้เครือข่ายหาลูกค้าเพื่อกระจายยาเสพติดต่อ พบทำมานานกว่า 10 ปี ก่อนถูกออกหมายจับเมื่อปี 2561 เเละถูกจับกุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563

ทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติด จากการสืบสวน “จูน บ่อดิน” ใช้วิธีอำพรางทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติดด้วยการให้คนที่ไว้ใจเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบเงินหมุนเวียนในเครือข่ายกว่าพันล้านบาท โดยปฏิบัติการ “ปิดฉากจูน บ่อดิน”ในครั้งนี้ ได้ทำการปิดล้อมตรวจค้นทั้งหมด 34 จุด ยึดทรัพย์กว่า 100 ล้านบาท