เลขา UN วอนผ่อนผันหนี้ ช่วยประเทศกำลังพัฒนา ฝ่าวิกฤตโควิด-19

เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องการผ่อนชำระหนี้ช่วยประเทศยากไร้-กำลังพัฒนา ฝ่าวิกฤตโควิด-19

30 ก.ย. 2563 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า อันโตนิอู กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องการผ่อนผันการชำระหนี้ สำหรับประเทศยากไร้และมีรายได้ปานกลาง เพื่อเอื้ออำนวยการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 โดยหวังว่าแผนริเริ่มผัดผ่อนภาระหนี้สิน (ของกลุ่มจี20) จะได้รับการยืดเวลาและขยายขอบเขตให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศรายได้ปานกลางทั้งหมดที่เดือดร้อน ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ต้องมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ครั้งนี้

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ กูแตร์เรส สนับสนุนการจัดหาทรัพยากรมหาศาลแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาผ่านธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีแห่งอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่หรือสิ่งที่สรรค์สร้างขึ้นใหม่ก็ตาม ด้วยรูปแบบการให้สินเชื่อแบบผ่อนปรน ซึ่งมีความสำคัญต่อกลุ่มประเทศที่เดือดร้อนหนักที่สุด รัฐบาลแต่ละแห่ง ต้องมีทรัพยากรเพื่อลงทุนด้านการสร้างและรักษาตำแหน่งงาน ผลักดันการศึกษาและธุรกิจกลับมาดำเนินการตามปกติ และจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างโลกที่ก้าวหน้า แข็งแกร่ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดียิ่งขึ้น
ภาพจากอีจัน
กูแตร์เรส กล่าวว่า ประชาคมระหว่างประเทศควรเพิ่มทรัพยากรที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สามารถเข้าถึง ซึ่งครอบคลุมการจัดสรรสิทธิถอนเงินพิเศษใหม่และการจัดสรรสิทธิถอนเงินพิเศษที่มีอยู่โดยสมัครใจ “เห็นได้ชัดว่านี่เป็นวิกฤตประเภทที่ไอเอ็มเอฟถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับมือ เพื่อทำให้เศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง โลกไม่อาจกลับมาฟื้นตัวจนกว่าเราจะหยุดยั้งไวรัสได้” กูแตร์เรส กล่าว พร้อมกันนี้ กูแตร์เรส ยังเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันจัดสรรเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) แก่โครงการเร่งปฏิบัติการต้านโควิด-19 (ACT-Accelerator) อันเป็นความร่วมมือระดับโลกที่นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อพัฒนาการวินิจฉัย การบำบัดรักษา และวัคซีนโรคโควิด-19 โดยขณะนี้จำเป็นต้องใช้เงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.75 แสนล้านบาท) ขับเคลื่อนโครงการจากระดับริเริ่มสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยืนยันผลแล้วกว่า 34 ล้านราย และผู้ป่วยเสียชีวิตทะลุ 1 ล้านราย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นความสมัครสมานมากพอต่อการสนับสนุนขนานใหญ่แก่ประเทศและชุมชนต่างๆ ที่เดือดร้อน กูแตร์เรส กล่าว อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 เป็นวิกฤตเฉียบพลัน แต่การแพร่ระบาดนี้ได้เผยให้เห็นปัญหาเรื้อรังที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งการเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนเหล่านี้ถือเป็นการทำร้ายโลกของเรา กูแตร์เรส กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “เราต้องหยุดไวรัส รับมือ ฟื้นฟู และเสริมสร้างระบบของเราให้แข็งแกร่งเพื่ออนาคตข้างหน้า”