“อายุตม์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่ เข้ารับตำแหน่ง และนโยบายการปฏิบัติงาน!

รมว.ยุติธรรม มอบนโยบายปฏิบัติราชการ ให้ “อายุตม์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนที่ 36 มุ่งแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

วันนี้ (1 ตุลาคม 2563) กรมราชทัณฑ์ จัดประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการ พร้อมการเข้ารับตำแหน่งของ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนที่ 36 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุม

ภาพจากอีจัน
นายสมศักดิ์ฯ กล่าวว่า “ตนเคยมามอบนโยบายไปแล้วเมื่อปีก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่น่าประทับใจ แต่อาจจะมีข่าวคราวที่ไม่ดีบ้าง แต่ตนมีวิจารณญาณเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หากเราเป็นผู้บริหาร เป็นรัฐมนตรี แล้วหูเบาบ้านเมืองก็วุ่นวาย ตนพร้อมที่จะรับฟังทุกคน เพราะการเป็นนักฟังที่ดีจะเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ หากเราคิดว่า สิ่งที่เราทำอยู่เป็นเรื่องที่ถูกต้องมีเหตุมีผล เราคุยกันได้ทุกเรื่อง การทำงานที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่ายหรือยาก แต่เป็นเรื่องของการแก้ปัญหา ผู้บริหารทุกท่านต้องมีวิจารณญาณ อะไรที่ควรทำหรือเหมาะสมแค่ไหน ตนอยากให้ระมัดระวังในบางครั้งหลายๆ เรื่อง รุ่นพี่อาจจะแนะนำรุ่นน้อง ตนขอฝากผู้มีประสบการณ์ช่วยแนะนำกัน เพราะบางครั้งข่าวที่ออกไปข้างนอก บางเรื่องจริง บางเรื่องไม่จริง ตนไม่อยากให้มีอะไรมารบกวนการทำงานของเรา ผมขอตามเรื่องเก่าที่เคยให้นโยบายไว้ คือเรื่องผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ผมให้ทำการบ้านมา ตอนนี้เรารับผู้ต้องขังได้เท่าไร ที่เราตั้งเป้าไว้ 3 แสนคน ทำได้หรือไม่ หากเราทำได้ครบในส่วนที่ล้นเราจะเอาไปไว้ไหน ตอนนี้เรารองรับได้แล้ว 2.9 แสนคน แต่ยังมีผู้ต้องขังอยู่ 3.4 แสนคน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกรม ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร หรือ ผบ.หวงนักโทษ ไม่อยากให้เขาไปอยู่ในที่ไม่ล้นหรือไม่หากเป็นเรื่องจริงทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล ในปีนี้ผู้ต้องขังต้องไม่แออัด หรือหากจะแออัดก็เป็นเพียงชั่วคราวรอการโอนย้าย ผมเชื่อว่าเราทำได้"
ภาพจากอีจัน
นายสมศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า จะต้องมีบัญชีหรือรู้ว่าผู้ต้องขังที่อยู่มาแล้ว 2 ใน 3 ในเรือนจำมีเท่าไร เพราะเขาได้สิทธิในการพักโทษ ตนไม่ทราบว่านักโทษมีสิทธิทำเรื่องขอพักโทษหรือไม่ และผู้กระทำผิดซ้ำเราไม่มีการให้เขาพักโทษก่อนเวลาเลย อาจจะต้องมีการปรับอย่างไรได้หรือไม่ และการปล่อยตัวผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เหมือนการจะปล่อยเสือเข้าป่าจะต้องมีการปรับตัวให้หากินเองได้บ้างแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือกรณีนักโทษแบบ “นายสมคิด พุ่มพวง” ฆาตกรต่อเนื่อง หากปล่อยไปเลยก็กลับไปทำผิดอีก ตนอยากให้ทุกท่านช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง วันนี้เรามีกำไล EM และมีศูนย์ JSOC ที่สามารถติดตามได้ และให้สังคมช่วยติดตาม แต่ต้องมีวิธีอื่น เพื่อให้เขาอยู่ในสังคมได้ด้วย เช่น การฝึกอบรมอาชีพ เพราะผู้ต้องขังมีเวลาอยู่ในเรือนจำนาน เราสามารถอบรมได้ อีกทั้ง เรามีแนวคิดสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่พวกท่านต้องช่วยกันคิดว่า จะมีอาชีพใดที่เป็นที่ต้องการบ้าง ยิ่งมีการส่งเสริมเรื่องภาษาต่างชาติ เราจะสามารถส่งออกแรงงานไปยังต่างประเทศซึ่งได้เงินเดือนเยอะกว่า 2 เท่า รวมถึงการทำบัญชีครัวเรือน หากได้วิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ เขาจะสามารถต่อยอดไปทำงานอื่นๆ ได้ นี่คือการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากท่านทั้งหลายตั้งใจ มีข้อมูลดีๆ เชื่อว่าเราจะสามารถพัฒนาศักยภาพของกรมได้เป็นอย่างดี
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
นอกจากนี้ กรณีนักโทษหลบหนี หากตามตัวนักโทษไม่ได้ภายใน 48 ชั่วโมง ผบ.เรือนจำนั้น จะถูกย้าย นายสมศักดิ์ ตอบว่า "นักโทษที่หลบหนี จะมีโทษที่สูงอยู่แล้ว ตนอยากให้เน้นเรื่องการเสียชีวิตของนักโทษในเรือนจำมากกว่า หากสูงเกินปกติจะถือว่า ผบ.เรือนจำนั้น มีความผิดที่ร้ายแรง และตนขอให้ทุกท่านทำงานอย่างตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นหน่วยงานที่ประชาชนเข้าถึงและพึ่งได้ ตนเชื่อว่าทุกท่านทำได้"
ภาพจากอีจัน
ส่วนเรื่องอาหารสำหรับนักโทษในเรือนจำ นายสมศักดิ์ ระบุอีกว่า การตรวจสอบเรื่องคุณภาพอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญ จะหย่อนยานไม่ได้ แม้ว่าจะได้งบประมาณน้อยกว่าหน่วยงานอื่น แต่ต้องบริหารให้ดี ดูให้ดีดูให้ครบถ้วน ตนไม่ได้มาสอนท่าน แต่เรามาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ทุกอย่างต้องเดินไปข้างหน้าอย่าปล่อยให้งานหละหลวม ทุกอย่างต้องมีเหตุผลเราต้องตอบคำถามได้
ภาพจากอีจัน