คลัง ออกโรงแจง หลังโครงการ #ช้อปดีมีคืน ถูกวิจารณ์ เอื้อให้นายทุน

คลัง ยืนยัน โครงการช้อปดีมีคืน แก้ปัญหาเศรษฐกิจตรงจุด – ไม่เอื้อนายทุน

จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ โครงการ ช้อปดีมีคืน ว่า เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด และผลประโยชน์จึงตกอยู่กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงนั้น รวมถึงประเมินว่าโครงการดังกล่าว ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่ น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก

ภาพจากอีจัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ (12 ต.ค. 63) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เป็น 1 ใน 3 มาตรการเพื่อรักษาระดับการบริโภคในประเทศ นอกเหนือจาก โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของกระทรวงการคลัง ซึ่งทั้ง 3 มาตรการ จะครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วนกว่า 28 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท และคาดว่า GDP เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 0.54 สำหรับ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภค ในประเทศ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และประชาชนผู้ที่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับฐานราก และส่งเสริมการอ่าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่อยู่ในระบบภาษี ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ในเรื่องขนาด ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายล้วนแล้วอยู่ในข่ายที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการทั้งสิ้น ส่วนโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นอีกโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ที่จะดูแลช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่ แผงลอย ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 226,161 ร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2563) ขณะที่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษสำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคสำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาท/คน/เดือน 3 เดือน (ต.ค. – ธ.ค. 63) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ทำการโอนเงินงวดแรกแล้วเมื่อวัน 8 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา