ย้อนประวัติศาสตร์ 47 ปี 14 ตุลาคม 2516

ย้อน 47 ปี 14 ตุลาคม 2516 วันประวัติศาสตร์ แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย

การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม คณะราษฎร 2563 และประชาชน นักศึกษา ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทำให้ใครหลายคน ย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์สำคัญเมื่อ 47 ปีก่อน ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย 14 ตุลาคม 2516

“สิบสี่ตุลา วันยิ่งใหญ่ของไทยทั้งชาติ เลือดไทยต้องไหลสาด อาบพื้นธรณี เพื่อสิทธิเสรี สู้เพื่อน้องพี่ชีพนี้ยอมพลี…สดุดีวีรกรรมของวีรชน” นี่คือเพลงแห่งความทรงจำ ของใครหลายคนที่เคยร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 63

สำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีนักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคน ชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่คำสั่งของรัฐบาลให้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ระหว่างวันที่ 14 – 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก

เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่สะสมก่อนหน้านี้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการทุจริตในรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร การถ่ายโอนอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศนานเกือบ 15 ปี

ภาพจากอีจัน


รวมไปถึงการรัฐประหารตัวเอง พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น

การประท้วงเริ่มขึ้นอย่างเด่นชัด เมื่อมีการตีพิมพ์ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ออกเผยแพร่ ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน สู่การเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาในสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ จนถูกทหารควบคุมตัว ซึ่งในภายหลังเป็นที่รู้จักกันในฐานะ "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" ทำให้เกิดความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษา และประชาชนเป็นอย่างมาก

จนเกิดการประท้วงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลได้ทำการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้

ภาพจากอีจัน


ในเวลาต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ประกาศลาออกและได้เดินทางออกต่างประเทศรวมถึง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ เยี่ยมผู้บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ส่วนผู้เสียชีวิต ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงศพ ที่ทิศเหนือของท้องสนามหลวง และนำอัฐิไปลอยอังคารด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อฟื้นฟูระเบียบของบ้านเมือง เพื่อประสานสามัคคีให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมในการปกครองประเทศ จากนั้นจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517

เหตุการณ์ 14 ตุลา ถือเป็นการลุกฮือของประชาชนครั้งแรก ที่เรียกร้องประชาธิปไตยไทยสำเร็จ และยังถือเป็นการรวมตัวของประชาชนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ภาคประชาชนในประเทศอื่น ๆ ทำตามในเวลาต่อมา เช่น ที่ เกาหลีใต้ในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู เป็นต้น

ภาพจากอีจัน



นอกจากนี้ มติของรัฐสภา ยังเห็นชอบให้มีการนำเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรจุในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์สำคัญของชาติ อีกด้วย