กระทรวงดิจิทัลฯ ( ดีอีเอส ) ขู่ฟ้องหลายสื่อ เผยข่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

กระทรวงดิจิทัลฯ ( ดีอีเอส ) เตรียมฟ้องดำเนินคดีสื่อโซเชียลมิเดีย หลังพบมีหลายสื่อเผยแพร่และนำเสนอข่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้นำเสนอได้ตามความจริง ห้ามหมิ่น กล่าวร้ายพาดพิงชี้นำผู้อื่น

จากสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย ของกลุ่มคณะราษฎร ตั้งแต่วันที่ 14-18 ต.ค.2563 พบว่ามีหลายสื่อเผยแพร่และนำเสนอข่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระทรวงดิจิทัลฯ หรือ DES เล็งแจ้งความผู้ใช้สื่อโซเชียล พบมีกว่า 3 แสน URL !

วันนี้ 19 ต.ค. 2563 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( ดีอีเอส ) เผยว่าที่ผ่านมาได้มีการติดตามและเฝ้าระวังการสื่อสารมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายตามคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563

กรณีการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อ 4 แห่ง ตามที่เป็นข่าวนั้น ยอมรับว่าเอกสารคำสั่งของ ผบ.ตร.ที่ให้ตรวจสอบสื่อเป็นของจริง แต่จะต้องดูว่าบังคับใช้กับใครบ้าง แต่ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ติดตามทั้งสื่อและรายบุคคลอย่างระมัดระวัง และหากสิ่งใดไม่เข้าข่ายชัดเจน ก็ยังไม่ส่งดำเนินคดี ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลใช้อำนาจปิดกั้นประชาชน ขอย้ำว่า ไม่ได้ดำเนินคดีกับทุกคน เพราะหากไม่เข้าข่ายความผิดหรือข้อกฎหมาย ก็ไม่ได้ดำเนินคดี ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน

ภาพจากอีจัน



นายพุทธิพงษ์บอกอีกว่า ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่าเป็นการปิดสื่อ เพราะจอไม่ได้ดำ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะต้องเชิญช่องต่างๆ มาชี้แจงถึงการนำเสนอข่าว และให้ระมัดระวังสื่อที่ออกมา ซึ่งจริงๆ แล้วคนยังไม่เห็นคำสั่งครบถ้วน เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูว่าอันไหนยุยง ชี้นำเนื้อหาผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามขั้นตอน เพราะขณะนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย จึงจำเป็นต้องเข้มงวด

ซึ่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ ซึ่งวันนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 14-18 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นพบผู้กระทำผิดกว่า 300,000 URL โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อระบุตัวบุคคลให้ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงอยากเตือนประชาชนให้ใช้สื่ออย่างระมัดระวัง เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะห้ามยุยง ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยก ดังนั้น หากมีการกระทำที่เข่าข่ายก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ภาพจากอีจัน



ซึ่งนายกฯไม่ได้กำชับอะไรมาก ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กระทรวงดิจิทัลฯ พยายามดูให้รอบคอบไม่รังแกใคร ที่ผ่านมาทำหลายเรื่อง ทั้งเตือนการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จต่างๆ ที่แชร์ข้อมูลไปจำนวนมากที่ดูแล้วก็เข้าข่ายทำความผิด แต่เราก็คัดกรองอย่างรอบคอบ เอาผิดจริงๆ จะเน้นในกลุ่มที่เป็นต้นตอมากกว่าก่อน"

ในส่วนของกระทรวงดิจิทัล จะเก็บรวบรวมหลักฐานผู้กระทำความผิด ส่วนจะใช้กฎหมายฉบับใดก็จะพิจารณาต่อไป ซึ่งหากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป ส่วนที่เข้าข่าย พ.ร.บ.คอมฯ ก็จะดำเนินการทันที ทั้งนี้ ยืนยันว่า ดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่วนกรณีที่สื่อโซเชียล ระบุว่าตนจะปิดเฟซบุ๊กต่างๆ นั้นต้องดูว่าทำได้หรือไม่ ขอดูคำสั่งอีกที ส่วนการไลฟ์สดก็ทำได้ แต่ถ้าไปไลฟ์สดผู้ที่พูดบนเวทีแล้วมีเนื้อหาที่หมิ่นหรือผิดกฎหมายที่ กล่าวร้ายพาดพิงผู้อื่นก็จะเข้าข่ายมีความผิด แต่หากเป็นการรายงานทั่วไป ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร