วิถีชีวิตสู่ดินแดนชายขอบ ชนชาติ กะเหรี่ยง จอปร่าคี

เรื่องเล่าจากผู้เฝ้ามอง ! วิถีชีวิตติดชายขอบ ชาวกะเหรี่ยง บ้านจอปร่าคี อ.แม่สะเรียง ผ่านโครงการ ห่มดอยคลายหนาว

การออกเดินทางของแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน บางคนออกเดินทางเพื่อหน้าที่การงาน บางคนออกเดินทางเพื่อตามหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต บางคนหนีรักเพื่อจะให้ใจได้แข็งแรง แต่ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเหตุผลใด จันเชื่อว่ามีสิ่งหนึ่งจะเก็บไว้ในใจเราตลอดกาลคือ “ความทรงจำ” เช่นเรื่องราวที่จันได้มาเยือน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 905 หมู่บ้านจอปร่าคี หมู่ที่ 9 ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เหตุการณ์ กิจกรรมต่างๆ รอยยิ้มของเด็กน้อยชาวดอยที่นี่ จะเป็นความทรงจำอีกปีที่ไม่มีวันลืม

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่สองที่มาที่นี่ จันได้นัด “ครูหนุ่ม ชยุต ยอดประชัน” ครูประจำโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 905

ให้เป็นไกด์พาไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวเขาชายขอบ ครูหนุ่มเล่าว่า ประชากรในพื้นที่หมู่บ้านใกล้โรงเรียนมีประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง นับถือศาสนาคริสต์ พูดภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก เด็กที่พูดภาษาไทยและได้สัญชาติไทย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่เข้าโรงเรียน ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีลูกดกมาก 5-10 คน สาเหตุที่มีลูกเยอะเป็นเพราะชาวกะเหรี่ยงไม่มีการคุมกำเนิด ซึ่งชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพริก เลี้ยงวัว รายได้ต่อเดือน ต่อปี ก็จะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผลผลิตแต่ละอย่าง

ใบตองตึง เป็นสิ่งที่จันเห็นแล้วว๊าวพอสมควร เพราะจันไม่รู้มาก่อนว่า ใบไม้ขนาดใหญ่ที่เรียกว่าต้นตึงจะสามารถนำมาประยุกต์เป็นที่หลบแดด หลบฝน ให้กับคนได้

ความเก๋ของหลังคาตองตึง คือ เป็นภูมิปัญญา เป็นมรดกที่ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ปัจจุบันจะมีหลังคาสังกะสีแล้วก็ตาม แต่ภายในบ้านทุกหลัง สิ่งที่มีเหมือนกันคือ เตาผิงไฟ เพราะเป็นวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตื่นเช้ามาต้องผิงไฟก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ

โรคธาลัสซีเมีย และ สุขอนามัย เป็นสิ่งที่ครูหนุ่มเป็นห่วงสำหรับชาวบ้านที่นี่

ครูหนุ่มเล่าว่า ชาวกะเหรี่ยงบางครอบครัว เป็นโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากแม่สู่ลูก โดยครูหนุ่มพยายามให้ความรู้กับทุกครอบครัวแล้วว่าการคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยเป็นสิ่งที่ป้องกัน โรคธาลัสซีเมียจากแม่สู่ลูกได้ แต่การให้ความรู้เช่นนี้ก็ยังไม่เป็นเกิดผล รวมไปถึงการอยู่การกินของคนที่นี่ ยังใช้มือทั้งห้านิ้วหยิบข้าวเข้าปาก มีวัฒนธรรมการกินคือใช้ปากซดซุปจากถ้วยเดียวกัน ยิ่งช่วงโควิด-19 แบบนี้ ยิ่งน่าเป็นห่วง แต่ครูหนุ่มก็จะพยายามจะบอกกับเด็กๆ ที่ตนเองสอนว่า ให้กินร้อนช้อนกลาง และแยกถ้วยซุปกันกิน

เดินมองตามบ้านแต่ละหลังของชาวกะเหรี่ยงได้ไม่นาน ครูหนุ่มก็เล่าความน่ารักของ ชาวกะเหรี่ยงให้จันฟังว่า “ชาวกะเหรี่ยงที่นี่เขาจะรักเดียวใจเดียว วิธีการจีบกันในสมัยอดีตคือ ชาวกะเหรี่ยงต่างถิ่นจะเดินทางมาเที่ยวแล้วพักข้างแรมในหมู่บ้านผู้หญิงกับผู้ชายจะได้มีโอกาสไปมาหาสู่ แอบพูดคุยกันตามป่า ตามเขา หรือต้นไม้ใหญ่ๆ

แต่มาตอนนี้ โลกเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนมีมือถือ ก็จีบกันผ่านโลกออนไลน์ โดยมาใช้อินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนนี่เอง ซึ่งถ้าคู่รักคู่ไหน ตกลงปลงใจกันแล้ว จะรักเดียวใจเดียว เรื่องความรักของชาวกะเหรี่ยงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ถึงแม้ผัวตาย ฝ่ายหญิงก็จะเป็นหัวหน้าครอบครัว เลี้ยงลูกทั้งหมดแทน

การที่จันเดินทางมาหมู่บ้านจอปร่าคี ด้วยเส้นทางมหาโหด และใช้ระยะเวลากว่า 18 ชั่วโมง จันว่ามันคุ้มค่ามากๆ ถึงแม้ที่นี่ไม่ได้มี เทคโนโลยีที่ศิวิลัย ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ที่เราคุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย แต่มันเป็นครั้งแรกที่จันได้มาสัมผัสชีวิตชาวเขาชายขอบ ได้มารู้ว่าเขากินอยู่ เขาใช้ชีวิตอย่างไร จนเกิดความเป็นห่วงในฐานะเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โรคธาลัสซีเมีย และ สุขอนามัย จันอยากให้คนที่นี่มีความรู้เรื่องหลักสุขอนามัยที่ถูกต้องเพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น จันบอกกับตัวเองว่าจันจะกลับมาที่นี่อีกครั้ง ที่นี่จะเป็นความทรงจำที่ดีของปี 2563 และจะเป็นอีกปีที่ไม่มีวันลืม

ปล. บันทึกความทรงจำ โครงการห่มดอยคลายหนาว
รร.ตชด.บ้านจอปร่าคี, รร.ตชด.บ้านปอหมื้อ , รร.ตชด.บ้านโกแประ
อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 24-29 ธันวาคม 2563