นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ยิ้ม ” ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 ” ใกล้แล้วเสร็จ !

นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ทุ่มสุดตัว ด้วยหัวใจ สร้าง ” ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 ” ใกล้แล้วเสร็จ ย้ำ หากไม่พอ เตรียมสร้างเพิ่มอีก 1,000 เตียง !

ในยามที่เกิดสถานการณ์คับขัน สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหมดไปก็คือ น้ำใจของคนไทย อย่างในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่ขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมาก จนน่าเป็นกังวล ในเรื่องของสถานที่กักและรักษาผู้ป่วยที่อาจไม่เพียงพอ
แต่ก็อย่างที่บอก น้ำใจคนไทยไม่เคยหายไป นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พ้นท้ายนรสิงห์ เจ้าของหรือผู้บริหารวัฒนาแฟคตอรี่ ที่ยอมสละที่ดินของตัวเอง มาทำเพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อส่วนรวม ได้มอบอาคารโกดังโรงงาน 2 หลัง บนเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ เพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 ณ วัฒนาแฟคตอรี่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อนำผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร มากักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันหรือจนกว่าหาย ตามมาตรการที่กำหนด โดยขณะนี้ การสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ใกล้แล้วเสร็จแล้ว !

ภาพจากอีจัน


นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พ้นท้ายนรสิงห์ ได้เปิดใจถึงการมอบอาคารโกดังโรงงาน 2 หลัง ให้กับ จ.สมุทรสาคร ว่า ตามที่ จ.สมุทรสาคร ได้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และทางจังหวัดสมุทรสาคร มีความประสงค์ในการจัดหาสถานที่เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม (ศูนย์ห่วงใยคนสาคร) ตนในฐานะผู้ประกอบการที่มีอาคารโกดังโรงงานสร้างใหม่ และอยู่ในพื้นที่ๆ มีความเหมาะสม ปลอดภัยต่อชุมชน ตนจึงได้มอบอาคารโกดังโรงงานให้กับทางจังหวัดสมุทรสาครจำนวน 2 หลัง เพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาไว้ในพื้นที่ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน


นายวัฒนา กล่าวว่า นอกจากโกดัง 2 หลังนี้แล้ว ตนยังจะสร้างโรงพยาบาลสนาม บนเนื้อที่ 8 ไร่ ภายในโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้ออีก 1,000 เตียง โดยใช้ทั้งเงินส่วนตัว และส่วนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนมาจากเพื่อนๆ ผู้ใจบุญใจกุศล และมูลนิธิฯ ต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการสร้างโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียงนี้ด้วย อีกทั้งยังได้ความร่วมมือจาก พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดกำลังคนมาช่วยดำเนินการ สร้างโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง ซึ่งก็ได้เร่งทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 10 วันข้างหน้า โดยขณะนี้ได้มีการออกแบบเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และอยู่ระหว่างการปรับหน้าดิน ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนที่วางไว้ ส่วนงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 5 ล้าน

ภาพจากอีจัน


ก่อนที่ นายวัฒนา จะกล่าวทิ้งท้ายว่า พี่น้องชาวสมุทรสาคร ต้องหันมาร่วมมือกันในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในส่วนของตนนั้น หากโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ตนก็ยินดีที่จะสร้างเพิ่มให้อีก หรือถ้าจะต้องสร้างจนเต็มพื้นที่ 100 ไร่ที่เหลืออยู่นี้ ก็ยินดี เพื่อให้จังหวัดสมุทรสาครมีที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพราะในสภาวะเช่นนี้ แม้ตนจะสร้างโรงงานไปก็คงไม่มีใครมาซื้อ ดังนั้น จึงหันมาทำโรงพยาบาลสนามฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และจังหวัดสมุทรสาคร จะดีกว่า โดยการทำครั้งนี้ตนทำด้วยหัวใจ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง เช่นเดียวกันสำหรับผู้ที่พอจะมีกำลังทรัพย์ สิ่งของ หรือสถานที่ ซึ่งพอจะสามารถช่วยเหลือจังหวัดสมุทรสาครได้ ไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง ก็อยากจะให้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่จะแพร่ระบาดมากไปกว่านี้

ภาพจากอีจัน


ส่วนความคืบหน้า ของการสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 พบว่า มีการนำเตียงนอนมาลงในพื้นที่เต็มอัตรา 140 เตียง พร้อมกับเครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ส่วนห้องสุขา – ห้องอาบน้ำ ก็ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว คงเหลือแต่การจัดพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อภายในศูนย์ห่วงใยแห่งนี้
โดยหลังจากที่การจัดระบบที่นอนภายในเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ก็จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องของการวางระบบ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยคาดว่าอีก 1 – 2 วันนี้ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่วัฒนาแฟคตอรี่ ก็จะสามารถนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากในชุมชนเข้ามากักตัวได้ โดยจะสามารถรองรับได้โกดังละ 140 คน รวมทั้ง 2 โกดังก็ประมาณ 280 – 300 คน

ภาพจากอีจัน


ด้านนายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เผยว่า ทางโรงพยาบาล ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากในชุมชนต่างๆ ที่จะเข้ามากักตัวอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3 วัฒนาแฟคตอรี่ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างสูงทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์เครื่องมือ โดยจะใช้หลักการบริหารจัดการเช่นเดียวกับในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เกิดความปลอดภัยทั้งกับบุคลากรและตัวผู้ป่วย รวมถึงความปลอดภัยที่จะมีต่อชุมชนรอบๆ ด้วย โดยเราจะมีระบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง