เพจดัง แฉ! พบข้อมูลคนไทย 2.2 ล้านรายชื่อ ถูกขายใน Dark Web อ้างหลุดจาก สธ.

อีกแล้ว! เพจชมรมแพทย์ชนบท แฉ พบข้อมูลคนไทย 2.2 ล้านรายชื่อ ถูกขายถูกๆ ใน Dark Web อ้างหลุดจากกระทรวงสาธารณสุข จี้ เร่งสืบสวนปิดจุดอ่อน หวั่นซ้ำรอย 9near

ช่วงนี้จะทำอะไรให้ระมัดระวังกันเป็นพิเศษนะคะ อย่าไว้ใจใครง่ายๆ ล่าสุด มีเพจดังออกมาแฉว่า มีคนขายข้อมูลคนไทยกว่า 2 ล้านรายชื่อ ใน Dark web ราคาประมาณ 360,000 บาท  

วานนี้ (18 มี.ค.67) ทางเฟซบุ๊กเพจ ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ภาพหน้าเว็บไซต์ที่มีการประกาศขายข้อมูลกว่า 2.2 ล้านชื่อ อ้างว่าเป็นข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของไทย ถูกขายในราคา 10,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 360,000 บาท แคปชั่นว่า 

ข้อมูลบุคคลขายถูกๆ 

ครบรอบ 1 ปี แฮกเกอร์ 9near พอดี ความเหมาะเจาะที่น่ากังขา มีการประกาศขาย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ชื่อสกุล มือถือ เลขบัตรประชาชน และวันเดือนปีเกิด 2.2ล้าน user ในราคา 10,000 USD  

ความคืบหน้าคดีแฮกเกอร์ 9near ที่สุดท้ายจ่ารับว่าทำคนเดียว ไม่รู้ถึงไหนแล้ว ส่วนกรณีใหม่ครั้งนี้ หลุดจากไหน อย่างไร ขอให้กระทรวงสาธารณสุขสืบสวนและเร่งปิดจุดอ่อนด่วน ไม่รู้เหมือนกันว่าหลุดเพราะแฮกเกอร์หรือว่าคนใน 

เสียงบ่นของหลายโรงพยาบาลบอกว่า ”cyber-security เป็นเรื่องใหญ่มาก  โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เก่งมาก ปลัด สธ.ก็มีนโยบายสั่งให้ทุกโรงพยาบาลทำเรื่องนี้ สั่งมาแบบกระดาษแผ่นเดียว แต่ไม่มีงบให้มาสักบาท จนถึงวันนี้ก็ไม่มีงบใดๆ มาจากส่วนกลาง ทุกโรงพยาบาลต้องดิ้นรนเอาเอง แล้วแบบนี้จะรอดไหม ข้อมูล สธ. หลุดทีละเป็นล้านๆ รายการ จึงยังมีให้เห็นอีกแน่ๆ 

ขณะที่ล่าสุด วันนี้ (19 มี.ค.67) ทางเฟซบุ๊กเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้ออกมาเผยว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีระบบป้องกัน และมีเจ้าหน้าที่ไว้ตรวจสอบตลอด จากข้อมูลที่เป็นข่าว ไม่แน่ใจว่าเป็นของหน่วยงานไหน เพราะระบบของกระทรวงสาธารณสุขที่วางไว้ เรื่อง cyber security เป็นอันดับหนึ่ง

นพ.ชลน่าน ยอมรับว่าเมื่อคืนก็ถูกแฮ็กเกอร์โจมตี ที่โรงพยาบาลจังหวัดร้อยเอ็ด แต่เราป้องกันได้ นับเป็นตัวอย่างของการวางระบบของกระทรวงสาธารณสุขที่เตรียมรับมือเอาไว้ ส่วนโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีไว้คอยมอนิเตอร์ กระทรวงสาธารณสุขจะมีการตั้งทีมดูแลอย่างไรอย่างไรนั้น นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ หากโรงพยาบาลที่เข้าระบบที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน เช่น โครงการ 30 บาทพลัส ใน 4 จังหวัดนำร่อง ที่เปิดบริการชุดที่สองในเดือนมีนาคม ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการวางระบบในการดูแลอย่างเข้มข้น และมีคณะทำงานจากส่วนกลาง ในแต่ละจุดของพื้นที่ แต่ละโรงพยาบาล มีการเปิดวอร์รูมเฝ้าระวัง

ส่วนที่สอง คือส่วนของโรงพยาบาลที่ยังไม่เข้าระบบ จะพัฒนาบุคลากรให้ดูแลเฉพาะที่ ซึ่งยังไม่เข้าสู่ระบบ ส่วนนี้กระทรวงฯ ยังไม่กังวล แต่เมื่อพร้อมเข้าสู่ระบบแล้ว เช่น เฟส 3 ในประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ระบบข้อมูลทุกอย่างต้องพร้อมหมด รวมถึงเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะมีประมาณ 20 กว่าจังหวัดในเฟสนี้

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้ถอดบทเรียนไว้ได้เยอะแล้วหรือไม่ ในเรื่องของการแฮ็กเกอร์ข้อมูล นั้น นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า แฮ็กเกอร์ต้องยอมรับในฝีมือ และอย่าไปท้าทาย เรามีหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกัน คนที่เป็นแฮ็กเกอร์ เพราะคงมีความชำนาญ มีประสบการณ์เยอะ ซึ่งกระทรวงฯ พยายามที่จะเรียนรู้แบบรู้เขารู้เรา และทำระบบ มีมาตรการที่ดีในการรับมือ ซึ่งหากเราทำงานเป็นระบบแบบนี้ก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันได้


คลิปอีจันแนะนำ

ดราม่า เดือด! ชิวาว่า ไม่น่ารัก เลี้ยงทำไม?