เตือน! คนชอบสั่งของกินออนไลน์ระวังเจอเชื้อราเสี่ยงมะเร็ง

ระวัง! ต้องเตือนคนที่ชอบสั่งของกินออนไลน์ให้ตรวจอาหารให้ดี ก่อนกิน หากเจอเชื้อรา กินเข้าไปเสี่ยงมะเร็ง

ยุคนี้อยากกินอะไรที่ไหน แทบไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน สั่งผ่านแอปพลิเคชัน เดี๋ยวก็ได้กิน

แต่! อย่าชะล่าใจไป ต้องดูของกินที่สั่งมาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน ว่า สมบูรณ์ ไม่มีเชื้อรา

ที่บอกแบบนี้ เพราะเกิดกรณีโซเชียลมีเดียโพสต์ข้อความพร้อมภาพ ระบุว่า ได้สั่งซื้อโดนัทจากห้างดังผ่านแอปพลิเคชัน แต่ปรากฏว่าได้รับโดนัทที่หมดอายุ ที่นำมาแปะป้ายราคาใหม่ที่แพงขึ้น

ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อรา และให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง

นายแพทย์เอกขัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย บอกว่า  ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง

อีกทั้ง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้

ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ

ส่วนอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง

สารอะฟลาทอกซินมักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม ได้แก่

-ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง

-ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง

-เม็ดมะม่วงหิมพานต์

-มันสำปะหลัง

-ผักและผลไม้อบแห้ง

-ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ

-มะพร้าวแห้ง

-หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา

ผู้ที่ได้รับอะฟลาทอกซิน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรกๆ จะมาแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว คือ กินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราแล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอะฟลาทอกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตับ และอาจมีผลต่อระบบไต หัวใจ

การป้องกันสารอะฟลาทอกซินทำได้โดย

เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด ต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น ไม่เก็บอาหารแห้งเหล่านั้นไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้ นำอาหารแห้งเหล่านั้นไปตากแดดจัดๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลง

เอาเป็นว่าทุกครั้งที่สั่งอาหารทางออนไลน์ต้องเช็กความเรียนร้อยของหีบห่อ และรูปลักษณะ กลิ่น ของอาหารก่อนที่จะรับประทานนะคะ

ที่มา :

https://multimedia.anamai.moph.go.th

https://www.rama.mahidol.ac.th

คลิปแนะนำอีจัน
มอบนิ้ว พิสูจน์รักแท้!