เกษตรกร อุทัยธานี ชีวิตดี๊ดีปลูก ถั่วแระญี่ปุ่น ฟันรายได้มหาศาล

พี่น้องชาว เกษตรกร อุทัยธานี ยิ้มหน้าบานปลูก ถั่วแระญี่ปุ่น ส่งออก กวาดเงินเข้าชุมชนเกือบ 100 ล้านบาท

ในความร้ายของเจ้าโควิดที่ทำให้ปั่นป่วนกันไปทั่วโลกนี้นั้น หลายภาคส่วนต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจการค้าการขาย ได้รับผลกระทบ ยากลำบากไปกันหมด แต่ว่าวันนี้ (15 ม.ค.64) ทีมจันลั่นทุ่งของเรา จะพามาดูชุมชนหนึ่งที่เขาปลูก ถั่วแระญี่ปุ่น ส่งออกขายกันทั่วไทยเลย ถึงแม้โควิดมาคนที่นี่เขาไม่ย่อท้อค่ะ ขยันจนล่าสุดมีเงินสะพัดจากการปลูก ถั่วแระญี่ปุ่น หมุนเวียนในชุมชนกว่า 90 ล้านบาท คุณพระเขาทำกันอย่างไร ไปดูกันค่ะ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
นายวันชัย ชีวระ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผู้ปลูกถั่วเหลืองฝักสด อุทัยธานี ได้กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีทองของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเราเลย โดยการส่งเสริมให้ เกษตรกร ปลูกถั่วเหลืองฝักสดหรือ ถั่วแระญี่ปุ่น ในฤดูแล้งนี้ เพื่อทดแทนการทำนาปรัง เริ่มปลุกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา ใช้พื้นที่ปลูก 5,000 ไร่ มีเกษตรกร 275 รายในกลุ่ม ปลูกใน 2 อำเภอ คือ อ.หนองฉางและ อ.ลานสัก เพราะถั่วเหลืองฝักสด เป็นพืชต้องการน้ำน้อย อายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 68 วันเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับข้าวนาปรัง ถั่วเหลืองฝักสดใช้น้ำเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ในขณะที่อายุเก็บเกี่ยวข้าว 120 วัน แต่ ถั่วระญี่ปุ่น สั้นกว่านั้น แถมมีผลผลิตที่ดีมีรายได้สูง เฉลี่ยแล้วในปีนี้เกษตรกรจะมีรายได้เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้ว10,000 บาทขึ้นไปเลยล่ะ
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

โดยมีเกษตรกรในกลุ่มปลูกน้อยที่สุดใช้พื้นที่ 10 ไร่และปลูกมากที่สุดในพื้นที่ 110 ไร่ ด้วยกัน ในปีนี้ถือเป็นปีทองของเกษตรกรเลย เนื่องจากได้ผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าทุกปี ทั้งนี้เพราะจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ไม่ร้อน ไม่แล้งเหมือนกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับสภาพอากาศปีนี้หนาวเย็นนาน จึงทำให้ได้รับผลผลิตสูง ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย เกษตรกรแต่ละรายจะมีรายได้นับแสนบาท รวยกันไปเลยทีเดียว

ภาพจากอีจัน
ที่สำคัญถั่วเหลืองฝักสดหรือ ถั่วแระญี่ปุ่น เป็นพืชที่มีตลาดนำการผลิต ก็คือ จะมีภาคเอกชน มาทำสัญญารับซื้อในราคาประกัน ตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ จึงทำให้เกษตรกรแต่ละรายมีรายได้ที่ดี ในส่วนของการเก็บเกี่ยวมีทั้งใช้แรงงานในพื้นที่ ด้วยการใช้เคียวเกี่ยวข้าวเกี่ยวและใช้นวัตกรรมใหม่ใช้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยว โดยก่อนการเก็บเกี่ยว จะมี จนท.ทำการเก็บตัวอย่างทุกแปลง เพื่อตรวจสอบสารเคมีตกค้าง ถ้าพบแปลงไหนพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานตามที่กำหนด ก็จะยังไม่รับซื้อ หลังเก็บเกี่ยวแล้วเกษตรกรจะนำขึ้นรถ นำมากองรวมกัน เพื่อจ้างแรงงานที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ วันละไม่ต่ำกว่า 300 คน ได้เงินกับไปคนละ 300 บาทจำนวน 60 วัน เพื่อทำการปลิดฝัก ใส่ภาชนะรองรับ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว คิดเป็นมูลค่าแล้วกว่า 5.4 ล้านบาทถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดีเลยล่ะจ้า
ภาพจากอีจัน
จากนั้นบริษัทภาคเอกชน ที่มาดำเนินการรับซื้อผลผลิตทั้งหมด ก็จะรวบรวมผลผลิตที่ได้ในแต่ละวัน เข้าสู่กระบวนการเป็นถั่วเหลืองฝักสดแช่แข็ง ส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้รับประทานสด เป็นที่นิยมบริโภคในครัวเรือน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นถือเป็นประเทศที่เข้มงวดกวดขันผลผลิตการเกษตรที่นำเข้า จะต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างเป็นพิเศษ เพื่อปกป้องให้พลเมืองในชาติของเขามีสุขอนามัยที่ดี
ภาพจากอีจัน
น่าดีใจจริง ๆ นับเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ช่วยกันปลูกถั่วแระญี่ปุ่นอย่างดีคุณภาพดีแบบนี้ จนเป็นของส่งออกไปให้คนญี่ปุ่นได้กินฝีมือคนไทย เยี่ยมจริง ๆ