กรมศิลปากร ตรวจสอบ หินเสมาโบราณ ยุคทวารวดี ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

กรมศิลปากร ตรวจสอบ หินเสมาโบราณ ยุคทวารวดี ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในท้องถิ่นต่อไป

กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบหลักหินเสมา 2 หลัก ที่บริเวณบ้านกุดตาใกล้ หมู่ 4 ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์
โดยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 กรมศิลปากร โดย สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด ได้เข้าตรวจสอบหลักหินเสมา 2 หลัก ที่บ้านกุดตาใกล้ หมู่ 4 ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งชาวบ้านกุดตาใกล้ได้ทำการขุดเปิดพื้นที่บริเวณบ้านของนายธงชัย คะโยธา จึงได้พบหลักหินดังกล่าว

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ พบว่าหลักหินที่ขุดพบมีลักษณะเป็นเสาหินทรายแปดเหลี่ยม จำนวน 2 หลัก ขนาดกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 212 เซนติเมตร และ กว้าง 60 เซนติเมตร สูง 177 เซนติเมตร สภาพไม่สมบูรณ์ ส่วนเดือยของหลักหินที่หักออก มีขนาดกว้าง 44 เซนติเมตร สูง 92 เซนติเมตร
โดยชาวบ้านกุดตาใกล้ได้ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้หลักหินเสมาโบราณดังกล่าวจมดินอยู่ โผล่พ้นดินขึ้นมาเพียงบางส่วน หลังจากนั้นมีการนำดินขุดสระมาถม แต่ยังเป็นที่รับรู้ของคนในชุมชนว่ายังมีหลักหินเสมาโบราณอยู่ในจุดดังกล่าว จนกระทั่งได้ขุดเปิดพื้นที่และพบหลักหินทั้งสองหลักนี้อีกครั้ง

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

เบื้องต้นอธิบดีกรมศิลปากร สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี เก็บข้อมูลรายละเอียดพร้อมจัดทำแผนผังที่พบ เพื่อดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีต่อไป ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากร มีนโยบายในการศึกษาความสัมพันธ์ของใบเสมายุคทวารวดีกับการตั้งชุมชน และพื้นที่ใช้งานทางวัฒนธรรมยุคทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี และสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เพื่อศึกษารวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับหินเสมาโบราณที่ พบกระจายตัวหนาแน่นในภาคอีสาน ที่สัมพันธ์กับการตั้งชุมชนในวัฒนธรรมยุคทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 13-16 โดยมีแหล่งสำคัญ เช่น เมืองจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และเมืองคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

สำหรับในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของวัฒนธรรมยุคทวารวดี ที่ผ่านมามีรายงานการพบแหล่งหินเสมาโบราณหนาแน่นมากกว่าจังหวัดอื่น โดยมีแหล่งสำคัญอยู่ที่เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย และที่บ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นต้น โดยแหล่งบ้านกุดตาใกล้นี้จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาความสัมพันธ์ของใบเสมาทวารวดีฯ ด้วยเช่นกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดของการพบเสมาทั้ง 2 หลักนี้ คือเป็นการพบหลักฐานในแหล่งดั้งเดิม ที่นักโบราณคดีจะยังมีโอกาสศึกษาชั้นดินที่พบ รวมถึงเก็บข้อมูลบริบทแวดล้อมทางโบราณคดีได้มากกว่าใบเสมาส่วนใหญ่ที่ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว และสูญเสียข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในทางการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นท้องถิ่นแจ้งความประสงค์จะเก็บรักษาเสมาทั้ง 2 หลักไว้ในพื้นที่ โดยจะดำเนินการขออนุญาตกรมศิลปากรตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในท้องถิ่นต่อไป