ดีอีเอส เปิดลิตส์ 200 แอปฯ อันตราย โหลดใช้อาจสูญเงิน-ข้อมูลส่วนตัว

เช็กให้ดีก่อนโหลด ดีอีเอส เปิดรายชื่อ 200 แอปพลิเคชัน เตือน! อย่าหลงเชื่อ อาจสูญเงินและข้อมูลส่วนตัวได้

วันนี้ 20 ม.ค. 66 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยว่า ขญะนี้มีการแพร่ระบาดของมัลแวร์อันตรายในรูปแบบแอปพลิเคชัน ซึ่งจากการตรวจสอบมาโดยตลอดนั้น พบปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน ที่ถูกระบุว่าสามารถขโมยข้อมูลหรือควบคุมเครื่องโทรศัพท์ได้

โดย ดีอีเอส มีการเผยแพร่รายชื่อแอปฯ อันตราย ในปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมากกว่า 200 รายการ ทั้งในระบบ IOS และ Android ตามที่ปรากฎใน Facebook ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Facebook ของ สกมช. (NCSA THAILAND) จึงขอให้ประชาชนทำการตรวจสอบ หากพบแอปฯ ดังกล่าว ให้ถอนการติดตั้งทันที และควรอัพเดตระบบโทรศัพท์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดเสมอ

ทั้งนี้ ดีอีเอส ฝากเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังการดาวน์โหลดสิ่งต่างๆ ลงบนโทรศัพท์ เพราะหากเจอมัลแวร์อันตราย มีโอกาสที่จะถูกดูดข้อมูลส่วนตัว ทรัพย์สิน รวมถึงการถูกควบคุมโทรศัพท์ได้ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงฯ ได้ประสานกับทาง Play Store หรือ App Store ทั้งหมดแล้ว เพื่อไม่ให้มีแอปฯ เหล่านี้ในระบบ และป้องกันไม่ให้ประชาชนหลงกลโหลดเข้าไป

นอกจากแอปพลิเคชั่น ยังพบ SMS ที่แอบอ้างใช้ชื่อผู้ส่งเดียวกันกับองค์กรทางการเงิน หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้ผู้รับเข้าใจผิดเชื่อว่าคือหน่วยงานจริง ซึ่งโดยทั่วไปหน่วยงานส่วนใหญ่ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่มีการส่งลิงก์ผ่าน SMS ให้กับผู้รับบริการ ดังนั้นจึงขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ หรือคลิกลิงก์ที่มากับ SMS หรือเพิ่มเพื่อนจากไอดีไลน์ โดยสามารถสังเกตได้จากข้อความที่เป็นเชิงข่มขู่ทำให้หวาดกลัว หรือดีจนเกินไป เช่น “คุณได้รับอนุมัติวงเงินกู้ 50,000 บาท คลิกลิงก์…” หรือ “โปรดยืนยันรหัสผ่าน มิฉะนั้นบัญชีของท่านจะถูกระงับการใช้งาน ติดต่อไลน์ไอดี…”

ทั้งนี้ สกมช. ได้มีการรวบรวมรายชื่อบริษัทที่ทําการส่ง SMS ปลอม เพื่อหยุดธุรกรรมต่างๆ และประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ผู้ให้บริการมือถือทุกค่าย และธุรกิจที่ทำ SMS ที่มีการปลอมชื่อออกมา หากหยุดธุกรรมสำเร็จจะไม่มี SMS ปลอมอีก

และนายชัยวุฒิ ยังฝากเตือนอีกว่า “อย่าไปแอดไลน์ อย่าไปคุยกับคนเหล่านี้ เพราะว่าถ้าเขาพูดคุยเข้ามา ส่งข้อความมาที่เป็นของที่ดีเกินจริงได้ประโยชน์มากเกินควร เช่น อาจจะให้กู้เงินห้าหมื่นบาท ให้ขายสินค้าในราคาพิเศษถูกมากๆ หรือหลอกว่าจะมีรายได้พิเศษให้เรา ถ้าเราไปทํางานกับเขา ไปลงทุนกับเขา พวกนี้มันดีเกินจริง คิดไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางไลน์ปลอม หรือ SMS ปลอม ก็อย่าไปยุ่ง อย่าไปกดลิงก์ อย่าไปให้ข้อมูลเด็ดขาด”

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการติดต่อหรือทำธุรกรรมกับหน่วยงานใดผ่านช่องทางออนไลน์ ควรเช็กข้อมูลความถูกต้องให้ดี ใช้แอปพลิเคชันที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นแอปฯ จริง หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานจริง ซึ่งสามารถสังเกตได้คือ เว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย ดอททีเอช ( .th ) ซึ่งเป็นเว็บที่จดทะเบียนในประเทศไทยนั่นเอง

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนใช้งานแอปพลิเคชันที่ตรวจสอบแล้ว เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และป้องกันการถูกหลอกให้สูญทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัวได้

คลิปอีจันแนะนำ
ชาร์จแบตทิ้งไว้ แต่กลับโดนดูดเงิน เกลี้ยงบัญชี?