เชื่อไหมว่าคนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกว่า 11 ล้านคน

คนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกว่า 11 ล้านคน แต่มีผู้ป่วยเพียง 1.9% ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคไตแล้ว

ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกว่า 11 ล้านคน แต่มีผู้ป่วยเพียง 1.9% ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคไตแล้ว ซึ่งโรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไต ทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง ได้แก่ ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ เป็นต้น

ซึ่งเมื่อป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วการทำงานของไตจะเสื่อมลงจนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไตในที่สุด ในบางราย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ต้องเดินทางไปฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่โรงพยาบาล ถึง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 4 ชั่วโมง

การขยายโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษา ความสำคัญของการมีศูนย์ไตเทียมที่มีระบบและเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) จึงร่วมบริจาคเงิน 55 ล้านบาทให้กับ รพ.ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ เพื่อร่วมสร้างศูนย์ไตเทียมที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเครื่องฟอกไตแบบประสิทธิภาพสูงจำนวน 30 เครื่อง มากที่สุดในประเทศไทย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมการฟอกไตประสิทธิภาพสูง (On-line Hemodiafiltration) ที่สามารถขจัดของเสียโมเลกุลใหญ่ ที่การฟอกไตปกติ (Conventional Hemodialysis) ไม่สามารถทำได้ ลดการติดเชื้อ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว นอกจากนี้ด้วยระบบ Smart IT System ที่จัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยแบบระบบดิจิทัล เชื่อมต่อข้อมูลให้นักศึกษาแพทย์นำมาศึกษาและทำวิจัยได้ รวมถึงต่อยอดเป็นสถานที่การเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ สอดคล้องกับพันธกิจของ GULF ที่มุ่งส่งเสริมด้านสาธารณสุข การศึกษา ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูงแห่งนี้ขยายศักยภาพการบริการ รักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเป็นศูนย์ฯ ที่มีเครื่องฟอกไตประสิทธิภาพสูงเยอะที่สุด 30 เครื่อง รองรับผู้ป่วยได้ 80-90 เคสต่อวัน โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ให้บริการผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการรักษาบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยมีศักยภาพในการให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแบบเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) ผู้ป่วยใน (IPD) รวมถึงหัตถการพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคไต เช่น การใส่สายสวนชนิด 2 ช่องทาง (Hemodialysis Catheter) เพื่อใช้ฟอกเลือดทั้งแบบชั่วคราว และแบบถาวร

เครื่องฟอกไตประสิทธิภาพสูงสามารถขจัดของเสียโมเลกุลขนาดใหญ่ในร่างกายได้ ลดการติดเชื้อและผลข้างเคียงของผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในทวีปยุโรปและอเมริกา นอกจากนี้ยังใช้ระบบน้ำบริสุทธิ์ในการล้างไต จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาล้างไต นับเป็นการลดขยะพลาสติกจากภาชนะบรรจุน้ำยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับประสิทธิภาพของศูนย์ฯ ในการจัดการกับขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม

ศูนย์ฯ แห่งนี้สามารถต่อยอดเป็นสถานศึกษาเรียนรู้งานของนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และแพทย์ประจำบ้านด้านอายุรศาสตร์โรคไต ทำให้ได้เรียนจากสถานที่จริง นอกเหนือไปจากการบรรยายในห้องเรียน มีโอกาสเรียนรู้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไตร่วมกับแพทย์ประจำบ้าน โดยมีอาจารย์คอยกำกับและให้ความรู้อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการต่อยอด ทำวิจัยเกี่ยวกับโรคไตในมุมต่าง ๆ เพราะศูนย์ฯ แห่งนี้เก็บข้อมูลผู้ป่วยไว้ในระบบดิจิทัล สามารถดึงข้อมูลมาศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาการรักษา การพยาบาล รวมถึงแก้ปัญหาโรคไตในระยะยาว

    ศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูงอยู่ชั้น 4 อาคารชวน ชูชาติ วพน.7 รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 900 ตารางเมตร มีเครื่องฟอกไตแบบประสิทธิภาพสูง ล้ำสมัย เสริมขีดความสามารถการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ประเมินวิธี ลักษณะการฟอกไต และปริมาณสารน้ำที่ต้องใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายโดยการคำนวณผ่านน้ำหนัก ผลเจาะเลือด รวมถึงสัญญาณชีพของผู้ป่วยในขณะฟอกไต เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายได้รับการฟอกไตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเหมาะสมตามอาการ

               โดยในช่วงที่ผ่านมา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้ให้บริการฟอกไตแก่ผู้ป่วยโรคไตในพื้นที่รวมถึงจากจังหวัดใกล้เคียงจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ประสบกับโรคไตวายแบบเรื้อรัง ดังนั้นจากการสนับสนุนของกัลฟ์ในครั้งนี้จะช่วยทำให้พื้นที่กว่า 900 ตารางเมตร ของศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูงแห่งนี้ สามารถขยายศักยภาพการบริการ รักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการชัดเจน แต่จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่จึงมีอาการไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง

 อาการบอกโรคไต คือ

  • อาการซึ่งเกิดจากการสะสมของของเสีย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คันตามผิวหนัง

  • ปัสสาวะน้อยหรือบ่อยผิดปกติ เพราะความสามารถในการขับน้ำผิดปกติไป

  • ลักษณะปัสสาวะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีเลือดปน เป็นฟองจากการมีโปรตีนรั่ว หรือมีนิ่วปนออกมา

  • ตาบวม ขาบวม อาจเกิดจากภาวะน้ำคั่งหรือเสียโปรตีนออกไปจนเกิดภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ

  • เหนื่อยง่าย เนื่องจากภาวะน้ำเกิน

  • ความดันโลหิตสูง

  • ตะคริว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะซีด ฯลฯ

ป้องกันโรคไต โดย

•   เลือกรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือมาก ในผู้ป่วยไตเรื้อรังควรปรับสัดส่วนโปรตีนให้เหมาะสมกับระยะของโรค

•   อาหารที่มีเกลือมาก ได้แก่ อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร เช่น ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ หมูตุ๋น บ๊วย มะม่วงดอง ฯลฯ เนื่องจากอาหารเหล่านี้ใช้เกลือเพื่อถนอมอาหาร เกลือมีผลต่อการทำงานของไตทั้งทางตรงและทางอ้อม

•  รับประทานอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไข่แดง กะทิ และน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง

•  ดื่มน้ำวันละ 6 – 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน

•  ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เกิดภาวะอ้วน

•   ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น แอโรบิก เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ

•   หยุดสูบบุหรี่ เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

•   ตรวจวัดความดันอย่างสม่ำเสมอ

•   พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดและผ่อนคลายอารมณ์

•  ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี