ตำแหน่ง ก.ตร. คืออะไร? หลังมีการลงนามแต่งตั้ง “บิ๊กโจ๊ก” เป็นอนุกรรมการ ก.ตร.
กลายเป็นข่าวฮือฮา เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ
โดยมี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ และมีชื่อของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นอนุกรรมการด้วย ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น (อ่านข่าว : พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ผงาดนั่งอนุกรรมการ ก.ตร.)

ซึ่งเรื่องดังกล่าว หลายคนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว เกี่ยวกับตำแหน่ง อนุกรรมการ ก.ตร.
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายใน เพื่อให้ทำหน้าที่ด้านธุรการและเลขานุการของ ก.ตร. โดยมีเลขานุการ ก.ตร. เป็นผู้ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานและมีผู้ช่วยของเลขานุการ ก.ตร. เป็นผู้ช่วยควบคุมดูแลการปฏิบัติงานอีก 2 ท่าน ในระยะแรกเจ้าหน้าที่ซึ่งมาช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ก.ตร. ใช้วิธีการยืมตัวข้าราชการจากหน่วยต่างๆ ในกรมตำรวจมาช่วยปฏิบัติราชการ
ภายหลังได้มีมติ ก.ตร. ครั้งที่ 6/2525 เมื่อ 26 เม.ย. 2525 กำหนดงานพร้อมทั้งอัตรากำลัง ในระดับกองกำกับการขึ้น 2 ฝ่าย คือ
1.ฝ่ายวินัยและอุทธรณ์
2.ฝ่ายตรวจสอบและทะเบียนประวัติ
เพื่อให้เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ โดยฝากการปกครองบังคับบัญชาไว้กับสำนักงานกำลังพล (ในขณะนั้น) ส่วนการปฏิบัติงานให้อยู่ในความควบคุมดูแลของเลขานุการ ก.ตร.
ต่อมา ก.ตร. ในการประชุม ครั้งที่ 11/2532 เมื่อ 6 ธ.ค. 2532 ครั้งที่ 9/2534 เมื่อ 16 ก.ย. 2534 และ ครั้งที่ 2/2535 เมื่อ 20 ม.ค. 2535 ได้อนุมัติกำหนดหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจขึ้นเป็นหน่วยงานภายใน และกำหนดตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้กับ ก.ตร. และอนุกรรมการ ก.ตร. ไว้ดังนี้
1. รองผู้บังคับการ 5 ตำแหน่ง
2. ผู้กำกับการ 6 ตำแหน่ง
3. รองผู้กำกับการ 5 ตำแหน่ง
4. สารวัตร 26 ตำแหน่ง
5. รองสารวัตร 62 ตำแหน่ง
6. ผบ.หมู่ หรือ ลูกแถว 85 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ในการเสนอ ก.ตร. กำหนดตำแหน่งดังกล่าว ตร. ได้จัดหน่วยงานภายในโดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ
1. ส่วนอำนวยการและพัฒนา
2. ส่วนตรวจสอบและกฎหมาย
3. ส่วนพิจารณาความผิดและการกำหนดโทษ
4. ส่วนวินัยและการออกจากราชการ
5. ส่วนอุทธรณ์
แต่ละส่วนมี รอง ผบก. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมดสังกัดสำนักงานกำลังพล ส่วนการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในความควบคุมดูแลของเลขานุการ ก.ตร.
นอกจากนั้นแล้ว ก.ตร. ในการประชุม ครั้งที่ 8/2537 เมื่อ 20 เม.ย.2537 ได้อนุมัติกำหนดตำแหน่ง ผบก.ประจำ สกพ. 1 ตำแหน่ง ให้ทำหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ต่อมา ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 17/2537 เมื่อ 19 ต.ค. 2537 อนุมัติให้กำหนดตำแหน่ง ผบช.ประจำ ตร. จำนวน 1 ตำแหน่ง ให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการ
การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ขึ้นเป็นส่วนราชการครั้งแรก ภายใต้การริเริ่มดำเนินการของ พล.ต.ท.ชาญชิต เพียรเลิศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เลขานุการ ก.ตร. โดยได้เริ่มขึ้นเมื่อ พล.ต.ท.ชาญชิต ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการ สำนักงานกำลังพล กรมตำรวจ ดังปรากฏตาม พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้รับการจัดตั้งเป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2540 เป็นต้นมา โดยมีการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ดังนี้
1. ส่วนราชการระดับกองบังคับการ 5 กองบังคับการ คือ
กองตรวจสอบและทะเบียนประวัติ
กองพัฒนาการบริหารงานบุคคล
กองพิจารณาความผิดและการกำหนดโทษ
กองรักษามาตรฐานวินัย
กองอุทธรณ์และร้องทุกข์
2. ส่วนราชการระดับกองกำกับการ 1 กองกำกับการ คือ กองกำกับการอำนวยการ สำหรับการกำหนดตำแหน่งใน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นไปตามมติ ก.ตร. ครั้งที่ 19/2539 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2539 และมติ ครม.ในการประชุม เมื่อ 24 ธ.ค.2539 ดังนี้
ผู้บัญชาการ 1 ตำแหน่ง
รองผู้บัญชาการ 1 ตำแหน่ง
ผู้ช่วยผู้บัญชาการ 1 ตำแหน่ง
ผู้บังคับการ 5 ตำแหน่ง
รองผู้บังคับการ 6 ตำแหน่ง
ผู้กำกับการ 11 ตำแหน่ง
รองผู้กำกับการ 13 ตำแหน่ง
สารวัตรหรือเทียบเท่า 46 ตำแหน่ง
รองสารวัตรหรือเทียบเท่า 106 ตำแหน่ง
ผู้บังคับหมู่หรือลูกแถว 141 ตำแหน่ง
รวมทั้งสิ้น 331 ตำแหน่ง
ในปี พ.ศ.2548 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 บังคับใช้เมื่อ 1 ก.ค.2548 โดยได้ยกเลิก พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 และแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจใหม่ โดยยังคงเป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการเช่นเดิม และมีกองบังคับการในสังกัดจำนวน 4 กองบังคับการ ได้แก่
กองตรวจสอบและทะเบียนประวัติ
กองพัฒนาระบบตำแหน่งและบริหารงานบุคคล
กองมาตรฐานวินัย
กองอุทธรณ์
มีส่วนราชการระดับกองกำกับการจำนวน 2 กองกำกับการ คือ ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และกลุ่มงานร้องทุกข์
ต่อมา ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 บังคับใช้เมื่อ 7 ก.ย.2552 โดยยกเลิกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 และแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจใหม่ โดยให้เป็นส่วนราชการในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ และมีกองบังคับการในสังกัด จำนวน 4 กองบังคับการ ได้แก่
กองตรวจสอบและทะเบียนประวัติ
กองร้องทุกข์
กองมาตรฐานวินัย
กองอุทธรณ์
มี ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นส่วนราชการระดับกองกำกับการ โดยการแบ่งส่วนราชการดังกล่าวนี้ ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน