
วันที่ 29 มี.ค.68 นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์แผ่นที่ดินไหว ขนาด 8.2 ลึก 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เวลา 13.20 น. โดยมีศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ส่งผลมีพื้นที่ในประเทศไทยรับรู้แรงสั่นไหว รวม 57 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จึงได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยกรณีแผ่นดินไหวเป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570

หลังเกิดแผ่นดินไหวมีอาฟเตอร์ช็อก ขนาด 2.8 – 7.1 รวม 138 ครั้ง และได้รับรายงานความเสียหายรวม 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชัยนาท รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหาย 80 ราย
โดยในส่วนของความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย พบว่า มีบ้านเรือนเสียหาย รวม 89 หลัง อาคาร 36 แห่ง และโครงการก่อสร้าง 14 แห่ง โดยอาคารส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายบางส่วน เกิดรอยร้าว และมีเศษซากวัสดุหลุดออกจากผนังอาคาร ปัจจุบันได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ อีกทั้งกรุงเทพมหานครได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่ ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นวงเงินในอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 200 ล้านบาท สำหรับใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานฯ
นายภาสกร กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในการควบคุมและเป็นขั้นตอนของการจัดการพื้นที่ และแนวโน้มของการเกิดอาฟเตอร์ช็อก ลดระดับลง คาดว่าภายใน 1 – 2 วัน กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจะพิจารณาลดระดับการจัดการสาธารณภัยลงเป็นระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) โดยจะโอนอำนาจการสั่งการให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป
