“มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ ตัวที่ 13 ของไทย

ไทยขุดพบ “ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก” ตัวที่ 13 ของไทย มีอายุมากถึง 150 ล้านปี

จากหินก้อนเล็กๆ เปื้อนโคลน ใครจะรู้ ว่านี่คือ “ไดโนเสาร์ตัวที่ 13” ของไทย!!!

วันนี้ (26 ก.ค. 66) ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส ค้นพบ “ไดโนเสาร์” ตัวที่ 13 ของไทย มีชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก กลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) ซึ่งถือว่า เป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยถูกค้นพบที่ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ หรือจูแรสซิกปาร์คเมืองไทย ในหมวดหินภูกระดึง ซึ่งเป็นตัวแรกของประเทศไทย ที่อยู่ในยุคจูแรสสิกตอนปลาย (ประมาณ 150 ล้านปีก่อน) และเป็นสายพันธุ์ไทยตัวแรกของ จ.กาฬสินธุ์

ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า “ไดโนเสาร์ตัวนี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่ตนเป็นที่ปรึกษาร่วม ซึ่งผู้วิจัยได้นำตัวอย่างมาให้พิพิธภัณฑ์สิรินธรอนุรักษ์เพิ่มเติม โดยใช้ปากกาลมเอาหินที่ทับซากดึกดำบรรพ์ออก เพื่อให้เห็นลักษณะกระดูกมากขึ้น แม้จะใช้เวลานานในการเตรียมตัวอย่างและศึกษาวิจัยถึง 5 ปี แต่เมื่อเห็นรายละเอียดของกระดูกแต่ละชิ้นเพิ่มเติม จึงสามารถระบุชนิดสายพันธุ์ออกมาได้”

ชิ้นส่วนที่ค้นพบ เป็นโครงกระดูกที่เกือบเต็มทั้งตัว ต่อเนื่องกันตั้งแต่กระดูกสันหลัง ซี่โครงครบทุกซี่ และเมื่อกรอเอาหินออกเพิ่ม ทำให้เห็นลักษณะเด่นเพิ่มเติม เช่น ส่วนที่เป็นกะโหลกกระดูกแก้ม กระดูกส่วนขากรรไกร และฟัน

ซึ่งเคยเจอมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทำให้มี “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ตัวเล็กและตัวใหญ่อีกตัว จึงนำไปเปรียบเทียบกับกระดูกของไดโนเสาร์ในกลุ่มใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่มีลักษณะใกล้กันมาก และด้วยภูมิศาสตร์บรรพกาลที่เชื่อมต่อกัน ทำให้พบลักษณะเด่นที่ต่างกัน ทีมวิจัยจึงบอกได้ว่า ตัวที่พบที่ภูน้อยเป็น “สายพันธุ์ใหม่ของโลก” ดร.พรเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบันมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์พืชและสัตว์มากกว่า 5,000 ขึ้น มีการศึกษาแล้วพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด ได้แก่ ฉลามน้ำจืด อะโครดัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Acrodus kalasinensis) ปลานักล่า อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichthys lertboosi) ปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนน์เคมเป (Ferganoceratodus annekempae) เต่า ภูน้อยคีลีส ธีรคุปติ (Phunoichelys thirakhupti) และ กาฬสินธุ์นีมีส ปราสาททองโอสถถิ (Kalasinemys prasarttongosothi) จระเข้ อินโดไซโนซูคัส โปตาโมสยามเอนซิส (Indosinosuchus potamosiamensis) และ อินโดไซโนซูคัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Indosinosuchus kalasinensis) และยังคงดำเนินการศึกษาวิจัยตัวอย่างอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีต ของไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียนในยุคจูแรสสิก และเป็นหลักฐานแสดงถึงความหลากหลายชีวภาพของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ที่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 63 และกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์ รวมถึงเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยของนักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

คลิปอีจันแนะนำ
3 ปีไม่เสียเปล่า คืนความยุติธรรม พี่เตี้ย มช.