
สถานการณ์น้ำเหนือและปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 67 เวลา 16.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.67 เป็นต้นไป
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า ในช่วงวันที่ 24 – 30 ส.ค.67 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1 – 3 วันข้างหน้า พบว่าปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในวันที่ 26 ส.ค.67 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700 – 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.40 – 0.80 เมตร ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.67 เป็นต้นไป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน

ส่วนการแจ้งเตือนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วม เวลา 08.00 น. วันนี้ (26 ส.ค.67)
ภาคเหนือ จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง กงไกรลาศ) ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง รวมถึงเตรียมถุงฉุกเฉิน อุปกรณ์ส่องสว่าง และกระสอบทราย พร้อมตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ตลอดจนงดกิจกรรมและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีน้ำท่วมสูง พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในระยะสั้น
ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อ.เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น พาน) ลำปาง (อ.วังเหนือ) พะเยา (อ.ภูซาง ปง) แพร่ (อ.ลอง วังชิ้น) และน่าน (อ.เมืองฯ ทุ่งช้าง เชียงกลาง ท่าวังผา บ่อเกลือ)
ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช (อ.ทุ่งสง ช้างกลาง สิชล) ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์ สุขสำราญ) พังงา (อ.ท้ายเหมือง คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.คลองท่อม) ตรัง (อ.สิเกา) และสตูล (อ.ควนโดน ควนกาหลง) พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่จัน เวียงชัย เชียงแสน ป่าแดด เชียงของ เทิง พญาเม็งราย ขุนตาล เวียงแก่น เวียงป่าเป้า พาน เวียงเชียงรุ้ง แม่ลาว) พะเยา (อ.เมืองฯ ภูซาง ปง เชียงม่วน ดอกคำใต้ เชียงคำ) แพร่ (อ.เมืองฯ ร้องกวาง สอง สูงเม่น หนองม่วงไข่ วังชิ้น) น่าน (อ.เมืองฯ เวียงสา) และพิษณุโลก (อ.บางระกำ นครไทย) พื้นที่เฝ้าระวังระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย (อ.เชียงคาน ปากชม) หนองคาย (อ.เมืองฯ สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย รัตนวาปี) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ ปากคาด บุ่งคล้า บึงโขงหลง) และนครพนม (อ.เมืองฯ บ้านแพง ท่าอุเทน ธาตุพนม) พื้นที่เฝ้าระวังดินถล่ม
ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อ.เชียงของ) และน่าน (อ.บ่อเกลือ) ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงบริเวณพื้นที่เชิงเขาเสี่ยงภัยดินถล่มและเส้นทางที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวหรือไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ พร้อมวางแผนอพยพไปตามเส้นทางและสถานที่ปลอดภัย ให้พ้นจากแนวการไหลของดิน

