ประวัติ หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล พระนักพัฒนา

หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล พระนักพัฒนาสายวัดป่า ผู้มีความอดทนและแบบอย่าง

ประวัติ หลวงพ่อเยื้อน

หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล มีนามเดิมว่า นายเยื้อน หฤทัยถาวร เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2495 ณ บ้านระไซร์ ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์ โยมบิดาชื่อ นายมอญ หฤทัยถาวร และโยมมารดาชื่อ นางฮิต หฤทัยถาวร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 9 คน ท่านเป็นบุตรคนแรก

ปัจจุบัน หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล ท่านสิริอายุได้ 71 ปี อยู่ที่วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จ.สุรินทร์

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 64 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์พระราชาคณะ รวม 11 รูป โดยมี พระราชวิสุทธิมุนี (เยื้อน ขนฺติพโล) เจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร (ธรรมยุต) จ.สุรินทร์ และเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ และ “หลวงตามหาบัว” พระธรรมวิสุทธิมงคล วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เป็น “พระเทพวชิรญาณโสภณ”

ย้อนเล่าการก้าวสู่พระพุทธศาสนา

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ณ พัทธสีมาวัดบูรพาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมี พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ฝ่ายธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสถิตยสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิมลสีลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ขนฺติพโล” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีความอดทน”

หลวงพ่อเยื้อน ศึกษากับหลวงปู่ดุลย์ ซึ่งท่านได้สอบจิตทำความสงบ สามารถปฏิบัติภาวนาได้รวดเร็วมีจิตสงบนิ่ง หลวงปู่ดุลย์จึงได้สนับสนุนให้ปฏิบัติธรรม โดยท่านกล่าวว่า “จิตเข้าสู่โลกุตรธรรมแล้ว ไม่ต้องเรียนหนังสือ ให้ปฏิบัติธรรมต่อไป” ต่อมาท่านได้ฝากให้เข้ารับการศึกษาอบรมข้อวัตรปฏิบัติกับ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2516 ได้อยู่ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานกับองค์หลวงตามหาบัว จนถึงปี พ.ศ.2518

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2518-2519 เขมรแดงได้เข้ายึดครองประเทศกัมพูชา ทหารเขมรแดงได้เข่นฆ่าประชาชนฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามแตกกระเจิงรุกล้ำเข้ามายังเขตแดนของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ฝ่ายกองกำลังผู้ก่อการร้ายในประเทศไทยเอง ก็สู้รบกับกำลังทหาร ตำรวจไทยอย่างดุเดือดรุนแรง โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดน สาเหตุจากการขัดแย้งด้านการเมือง

ฝ่ายทหารไทยโดยกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารีต้องการได้พระภิกษุมาปลอบขวัญทหารที่ทำการสู้รบ จึงทูลขอจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้พระมาอยู่ประจำกับค่ายทหารที่ชายแดนใน โครงการ “พระสงฆ์นำการทหารเพื่อความมั่นคง”

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงมีพระบัญชาให้ทหารไปขอพระภิกษุจากพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ โดยตรง ในฐานะที่ท่านเองก็อยู่ในท้องถิ่นนั้นอยู่แล้ว หลวงปู่ดูลย์พิจารณาแล้วเห็นว่าพระที่จะไปอยู่กับทหารเห็นมีเหมาะสมเพียงองค์เดียว คือ หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล เท่านั้น จึงสั่งให้พระจากวัดพร้อมกับทหารไปนิมนต์หลวงพ่อเยื้อนซึ่งขณะยังปฏิบัติธรรมศึกษาอยู่กับองค์หลวงตามหาบัว ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ทหารกับพระที่มาด้วยแจ้งต่อหลวงพ่อเยื้อนว่า หลวงปู่ดูลย์ต้องการตัวให้รีบมาด่วน หลวงพ่อเยื้อนจึงกราบลาองค์หลวงตามหาบัวเดินทางกลับสุรินทร์

หลวงพ่อเยื้อน ได้มาอยู่ที่เนิน 424 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เหตุการณ์ในช่วงนั้นบ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และจากทหารเขมรแดงก่อความเดือดร้อนทั้งชาวไทยและชาวเขมร ชาวบ้านหนีตายถึงกับบ้านแตกสาแหรกขาด ถูกล้อมเผาหมู่บ้านต้องอพยพหนีภัยกันอย่างน่าสลดใจยิ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ.2519 มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นที่เนิน 424 เวลาประมาณ 03.00 น. ถึงประมาณเที่ยงของวันรุ่งขึ้น มีกองกำลังไม่ทราบสัญชาติมาโจมตีหน่วยตระเวนชายแดนที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ 500 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน และเผาวัด เผาโรงเรียน เอาจรวจ อาร์ พี จี ยิงใส่พระพุทธรูปจนระเบิด เวลานั้นหลวงพ่อเยื้อนต้องหลบหนีเอาตัวรอด เมื่อหาที่อยู่ไม่ได้ จึงกลับไปอยู่ที่วัดบูรพาราม และจำพรรษาอยู่ที่นั่น 1 พรรษา และเดินทางกลับมาหาหลวงปู่ดูลย์

สร้างวัดป่ากัมมัฏฐานแห่งแรกในอำเภอสนม

ปี พ.ศ. 2520 พันโทอุดม ฝ่าย กอ. รมน. มากราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์เพื่อขอพระสงฆ์ไปอยู่ที่อำเภอสนม หลวงปู่ก็ได้ส่งท่านพระอาจารย์เยื้อนไป โดยได้ไปพักอาศัยอยู่ในป่าช้าเพื่อปฏิบัติธรรม ในช่วงระหว่างที่ท่านอยู่ปฏิบัติธรรมที่ป่าช้าอยู่นั้น มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือมีกลุ่มชาวบ้านเดินขบวนขับไล่ออกจากพื้นที่  โดยมีการปลุกระดมว่าท่านเป็นพระคอมมิวนิสต์ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้าน  บางคนด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบโลน มีการทำร้ายร่างกายด้วยวิธีขว้างปาอิฐใส่ศีรษะ ถือเป็นขบวนการที่รุนแรงจนผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ต้องเดินทางเข้าไปดู ในที่เกิดเหตุ และได้นิมนต์ให้ท่านอยู่ต่อไป ในช่วงที่มีการเดินขบวนขับไล่นั้นพันโทอุดมได้เข้าไปร่วมกับกลุ่มชาวบ้านที่ ต่อต้านด้วยจึงได้รู้ว่าใครเป็นแกนนำในการปลุกระดม ซึ่งในที่สุดทางการก็สามารถจับได้ภายใน 5 เดือน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท่านพระอาจารย์ได้เล่าถวายหลวงปู่ดูลย์ และหลวงตามหาบัวตลอด และท่านหลวงตาได้พูดว่าคนดีจะอยู่ไม่ได้หรือที่อำเภอสนม และท่านก็เข้าใจเจตนาของท่านหลวงตาทันที  ต่อมาก็มีโยมตระกูลบุญญลักษม์ได้ซื้อที่ถวายสร้างวัดแห่งใหม่ซึ่งก็อยู่ ใกล้ๆ กับป่าช้านั้น ท่านได้สร้างเสนาสนะ ศาลาประยุกต์เป็นโบสถ์พร้อม และได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ  มีการขึ้นทะเบียนเป็นวัดอย่างถูกต้องว่า วัดบ้านโดน  ชาวบ้านก็มีความเข้าใจและศรัทธาในตัวท่านเป็นอย่างมาก ท่านพระอาจารย์เยื้อนอยู่ที่วัดแห่งนี้จนถึง ปี พ.ศ. 2531 จึงได้ย้ายไปประจำอยู่ที่วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันพระครูสุทธิปัญญาภรณ์ เป็นเจ้าอาวาส และได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดบ้านโดน เป็นวัดป่าอตุโลบุญญลักษม์

สร้างวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร

ใน ปี พ.ศ. 2532 พระอาจารย์เยื้อน ได้เข้าพบพันเอกอนันต์ นอบไทย รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี จังหวัดสุรินทร์ ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับพื้นที่เขาศาลา ตำบลจรัส  อำเภอบัวเชด ทางคณะสงฆ์จะขอเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผลจากการเข้าหารือทางกองทัพไม่ขัดข้องพร้อมให้การสนับสนุนสร้างเป็นวัดที่ ถูกต้องตามกฎหมาย และได้ประสานกับพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีเกี่ยวกับเรื่องนี้  และท่านก็เห็นด้วย พร้อมกับมีคำสั่งให้ทหารช่าง ช พัน 6 ทำถนนขึ้นเขาศาลา และได้ดำเนินการขอสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้  พันเอกสนั่น  มะเริงสิทธิ์  ได้จัดทำโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนา อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมด้วยรอบบนเขาศาลา โดยทำหนังสือถึงกรมป่าไม้เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณเขาศาลาจัดตั้งเป็นพุทธ อุทยาน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 10,865 ไร่ และได้ประสานกรมศาสนาเพื่อขออนุมัติจัดตั้งพุทธอุทยานอย่างถาวรเพื่อเป็น ตัวอย่างในการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนจากกองทัพภาคที่ 2  และกองกำลังสุรนารี จังหวัดสุรินทร์  การมาอยู่ที่เขาศาลาของท่านพระอาจารย์เยื้อนซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกร่วมกับกองกำลังสุรนารี ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์มาตลอด สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นนักอนุรักษ์จริง ๆ  คือ เวลาจะพัฒนาวัดทำความสะอาด ท่านจะห้ามพระเณรเสมอว่าถ้าไม่จำเป็นห้ามตัดต้นไม้เด็ดขาด แม้ต้นไม้ที่ตายท่านก็ไม่นำมาทำเป็นฟืน  เสนาสนะท่านก็ไม่ใช้ไม้ท่านให้เหตุผลว่าถ้าใช้ไม้ก็เท่ากับเราเบียดเบียน ธรรมชาติถึงปูนซีเมนต์จะแพงหน่อยก็ไม่เป็นไร

สร้างวัดสุรินทราวาสจากแรงศรัทธา

วัดสุรินทราวาส เป็นวัดสร้างใหม่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้าง

เดิมเจ้าของจะสร้างเป็นโรงแรม แต่เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ ป่วยโรคมะเร็ง ทางเจ้าของจึงทำบุญใหญ่ บริจาคอาคารที่สร้างนี้ให้ทำเป็นวัด

พระนักพัฒนาเขตชายแดนไทย-กัมพูชา

พระอาจารย์เยื้อน หรือในปัจจุบันท่านได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็น “พระเทพวชิรญาณโสภณ” นอกจากจะเป็นพระนักอนุรักษ์ป่าไม้ที่ใคร ๆ  ต่างก็ทึ่งในความสามารถที่ท่านทำได้สำเร็จ สามารถดูแลป่าในเนื้อที่หมื่นกว่าไร่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว  ท่านยังเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งในจังหวัดที่ควรศึกษาในด้านการพัฒนาคน คือพระเณร

ท่านได้ดำเนินการจัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2535 – ปัจจุบัน ท่านมีมุมมองว่า การพัฒนาคนที่ยั่งยืนที่สุดคือการให้การศึกษาแก่เด็ก เยาวชน  ถ้าสามารถเรียนสำเร็จโอกาสทางสังคมมีมากขึ้น  อาชีพ  รายได้ ก็เพิ่มขึ้น พระเณรในสำนักของท่านได้ส่งไปเรียนยังสำนักเรียนต่างๆ ในภาคกลาง มีทั้งระดับมัธยม  อุดมศึกษา และที่ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศก็มี ทั้งในระดับปริญญาตรี  โท  เอก  มีเกือบ 50 รูป

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พ.ศ.2526 เผยแผ่พุทธศาสนา-ปฏิบัติธรรม ณ กรุงบอน ประเทศเยอรมัน

พ.ศ.2527 ธุดงค์เผยแผ่พุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมพร้อมคณะพระสังฆราช ณ ประเทศเนปาล

พ.ศ.2549ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ พระพิศาลศาสนกิจ

พ.ศ.2550 เป็น 1 ใน 5 ของผู้ได้รับรางวัลผู้บำเพ็ญประโยชน์ในการพัฒนาจิตประจำปี พ.ศ.2550 ของสภาชาวพุทธและมูลนิธิโลกทิพย์

 ขอบคุณภาพบางส่วนจากเฟซบุ๊ก : รักษ์ เขาศาลา

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.108prageji.com/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B9%82%E0%B8%A5/

http://sukanrat.blogspot.com/2012/10/blog-post.html

คลิปอีจันแนะนำ
เรื่องเล่าจากทายาทรุ่นที่ 5 ตำนานคฤหาสน์ร้างร้อยปี! @ระนอง