สัญญาณดี สสส. เผย สามารถปกป้องเยาวชนจากยาเสพติดได้แล้ว 25 ชุมชน ใน 48 จังหวัด

สสส. เปิดพื้นที่ให้ ประชาชน ออกแบบแนวทางป้องกัน ปัญหายาเสพติด

ยาเสพติดปัญหาลุกลามที่ใครก็อยากช่วยกันแก้ 

ล่าสุด สสส. ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด จับมือกันรุกเข้าชุมชนเพื่อแก้ปัญหานี้ ตั้งแต่ต้นลม

โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หวังเชื่อมโยงภาคประชาสังคม วิชาการ  สร้างต้นแบบพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดในชุมชน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดเผยข่าวดี ในงานประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ว่า 

ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม

สสส. สนับสนุนโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญทำให้เกิดแกนนำ ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค  2,683 คน จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในพื้นที่ของแกนนำต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ได้

หลักการสำคัญของการขับเคลื่อนงานป้องกันยาเสพติดในชุมชน ต้องมีฐานมาจาก 

1. พลังสังคม คือ กลไกภาคประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนงาน จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้มีศักยภาพ และเท่าทันสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 

2. พลังวิชาการ คือ เครือข่ายวิชาการ เช่น ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องพัฒนาข้อมูลเชิงวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ขยายผลการทำงาน 

3.พลังนโยบาย คือ การนำบทเรียนจากการทำงานของกลไกภาคประชาชน และข้อมูลวิชาการ มาพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ

ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึง

การแก้ปัญหาสิ่งเสพติดต้องใช้กลไกและอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพในการติดตามแก้ไขปัญหาที่มีความต่อเนื่อง

โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของชุมชนที่มีต่อสิ่งเสพติด ซึ่งโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ สนับสนุนโดย สสส. มีเป้าหมายการทำงานคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีกลไกการทำงานคือ 

1. ระบบความสัมพันธ์ที่ดี

2. ใช้ความเข้าใจ เปิดใจการการพูดคุย 

3. เป็นการจัดการเชิงบวก

4.พื้นที่การเรียนรู้ที่พัฒนาคนควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนในรูปแบบที่สร้างสรรค์ การออกแบบเพื่อยกระดับการเรียนรู้ร่วม 

ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาชุดความรู้จากการถอดบทเรียนการทำงานกับชุมชน เพื่อนำไปใช้ขยายพื้นที่ทำงานทั่วประเทศ

ด้าน ดร.สมคิด แก้วทิพย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ในอดีตแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเป็นลักษณะ “การใช้อำนาจบังคับ” คือ ผู้มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งการ ตรวจเจอแล้วจับ ขณะที่ชุมชนมองว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องปัจเจก ที่หากจะแก้ไขต้องแก้ที่บุคคล หรือเรียกว่า “ตัวใครตัวมัน” 

ขณะที่แนวทางการทำงานของ สสส. ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการปัญหายาเสพติดที่รุนแรงขึ้น โดยให้ความสำคัญการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ให้ทุกคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีต้นแบบพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดที่เห็นภาพชัดเจนคือ ที่สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้ศิลปะในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือเรียกว่า “ศิลปะสื่อสุข” สามารถป้องกันเด็กได้ 40 คน ป้องกันกลุ่มเสี่ยงได้ 30 คน และเปลี่ยนจากผู้เสพให้เลิกได้ 6 คน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างหลายหลาย แต่มีหลักการสำคัญคือ มีพื้นที่ตรงกลาง เน้นรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา มอบโอกาส และสร้างความเข้าใจ มีกลไกที่ช่วยประสาน เชื่อมโยงภายในและภายนอกที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการฯ สำเร็จคือ การเปิดโอกาสให้ชุมชนดำเนินการตามศักยภาพของตัวเอง ทำให้ชุมชนมีอิสระในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หวังว่าสักวันหนึ่ง ปัญหายาเสพติดจะหมดไปจริงๆ เยาวชนมีความตะหนักคิดถึงโทษของยาเสพติดได้ 100%