สหพันธ์ขนส่งฯ ออกแถลงการณ์โต้ ผลการตรวจสติ๊กเกอร์ดาวเขียว

สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ โต้ข้อมูลตำรวจ ผลสติ๊กเกอร์ดาวเขียว หวั่นประชาชนเข้าใจ สหพันธ์ฯ ผิด

สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับผลการตรวจสอบสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์รูปดาวสีเขียวหน้ารถบรรทุก

โดยชี้แจงว่า ผลการแถลงการตรวจสอบอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ว่า สหพันธ์ฯ เป็นผู้ยืนยันว่าสติ๊กเกอร์ดังกล่าว ไม่ใช่สัญลักษณ์ส่วย และส่วยรถบรรทุกไม่มีแล้วในประเทศไทย

ซึ่งแถลงการณ์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ รถบรรทุกดินตกหลุมอุโมงค์สายไฟ ที่ถนนสุขุมวิท 64/1 แต่ประชาชนมุ่งให้ความสนใจไปที่สติ๊กเกอร์รูปดาวสีเขียวพร้อมตัวอักษร B ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับขบวนการ ‘ส่วยรถบรรทุก’

ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบที่มาที่ไปของสติ๊กเกอร์นี้

หลังจากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบให้ข้อมูลว่า สัญลักษณ์ดาวสีเขียวพร้อมตัวอักษร B หน้ารถบรรทุกคันดังกล่าว ยังไม่พบข้อมูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ ส่วยสติ๊กเกอร์ และไม่พบข้อมูลการรับส่วยจากเจ้าหน้าที่ พร้อมให้ข้อมูลจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนผ่าน สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่พบเรื่องร้องเรียน ดาวเขียว ตัวB เช่นกัน

โดยหลังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบ สติกเกอร์ดาวเขียว ออกมาเปิดเผย

สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์โต้กลับทันที

เนื่องจากมีการกล่าวอ้างถึงสหพันธ์ฯ โดยในแถลงการณ์ของสหพันธ์ฯ กล่าวว่า

‘การสอบสวนของตำรวจนครบาล 5 ได้มีการอ้างในการแถลงข่าวว่า “ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันในการให้ข้อมูลกับตำรวจว่า สหพันธ์ฯ ไม่เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์ “รูปดาวสีเขียว” หรืออักษรตัว “B” ดังกล่าวแต่อย่างใด”

จากคำ แถลงดังกล่าว ทำให้ประชาชนอาจเข้าใจผิดคิดว่า สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยืนยัน ว่า สติกเกอร์ดังกล่าวไม่ใช่สัญลักษณ์ส่วย ซึ่งในเรื่องนี้ข้อเท็จจริง ตำ รวจไดนำข้อมูลเพียงส่วนเดียวมาแถลง ความจริง การให้ข้อมูลดังกล่าว ทางสหพันธ์ฯ ได้ยืนยัน ชัดเจนว่าได้รับการร้องเรียนเรื่องการขายสติกเกอร์เพื่อบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเครือข่ายใหญ่ ที่สามารถวิ่งรถได้ท้่วประเทศไทย เป็นการขายสติกเกอร์ที่มีหน่วยงานหลายภาคส่วนที่รับผิดชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งยังให้ข้อมูลว่า กรณีนี้เป็นส่วยเฉพาะบริษัทที่เคลียร์เฉพาะพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการวิ่งรถในการทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายได้

สามารถดูจากสภาพรถที่ผิดกฎหมายเช่น ไฟด้านหน้ารถ และความผิดตามกฎหมาย อื่นๆ

ดังนั้นการที่มีการกล่าวอ้างข้อมูลว่า สหพันธ์ฯ ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสติกเกอร์สัญลักษณ์นี้ ไม่ถือเป็นเรื่องที่ทำ ให้สังคมเข้าใจได้ว่า สติกเกอร์ดังกล่าวไม่ใช่สัญลักษณ์ส่วย เพียงเพราะไม่เคยมีใครร้องเรียน

รวมทั้งอาจทำให้สังคมเข้าใจได้ว่า ส่วยสติกเกอร์ไม่มีแล้วในประเทศไทย

ทั้งที่ยังคงมีอยู่ทั้งในรูปแบบสติกเกอร์ และในรูปแบบส่งไลน์แจ้งทะเบียน

ทางสหพันธ์ฯ ยังแจ้งในแถลงการณ์อีกว่า สหพันธ์ฯ เป็นเพียงผู้แจ้งเบาะแสเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลเชิงลึกในเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์นี้ เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการสืบสวนต่อไป