มาเรียมเครียดประจันหน้าพะยูนรุ่นใหญ่

ขณะกำลังกินหญ้าทะเล เกิดภาวะเครียดฉับพลัน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ ร่วมส่งกำลังใจให้พะยูนน้อยมาเรียม เพราะอยู่ในภาวะเครียดกระทันหัน

"มาร่วมส่งใจช่วย น้องมาเรียม ช่วงนี้อยู่ในภาวะเครียด"
ตามที่เพจกรม ทช. ไม่ได้ Live กิจวัตรน้องมาเรียมในช่วง ๒ วันที่ผ่านมา นอกจากปรับปรุงสัญญาณอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังเป็นช่วงที่น้องมาเรียมเกิดภาวะเครียดกะทันหัน

สาเหตุมาจากในช่วงเย็นของวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ระหว่างมาเรียมกินหญ้าทะเลอยู่หน้าอ่าว พบว่ามีพะยูน ขนาดโตเต็มวัย ว่ายน้ำเข้ามาเผชิญหน้าแบบคุกคาม (ไล่) ทำให้ น้องมาเรียม ตกใจมาก และว่ายน้ำหนีกลับเข้ามาในอ่าว ซึ่งต่อมายังพบพะยูน ตัวโตเต็มวัย ว่ายวนเวียนอยู่บริเวณทุ่น ห่างจากเสาที่ติดตั้งกล้องตัวที่ 6 ประมาณ 5 เมตร 

ภาพจากอีจัน

อาการเบื้องต้นของ น้องมาเรียม มีอาการตกใจอย่างมาก ในช่วงแรก น้องมาเรียม มีอาการซึม อ่อนแรง ไม่ค่อยว่ายน้ำ ไม่กินอาหาร ทางทีมสัตวแพทย์จึงพิจารณาป้อนกูลโคส และเกลือแร่เสริมให้ และปล่อยให้พักกับเรือแม่ส้ม สลับกับการให้อาหาร โดยป้อนกูลโคสและเกลือแร่ทุกๆ 1 ชั่วโมง มีการป้อนนมให้อย่างต่อเนื่องทั้งคืน พบว่า น้องมาเรียม กินนมเพียง 100 มล. กินหญ้าทะเลเพียงเล็กน้อย ทางทีมสัตวแพทย์ต้องเฝ้าอยู่กับน้องมาเรียมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรอดูอาการ ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นจะมีการพิจารณาในขั้นต่อไป
…..แผนการดำเนินการที่กรม ทช. เตรียมไว้ โดยร่วมกับกองทัพเรือ กรมอุทยานฯ และมหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตตรัง คือ การเปลี่ยนพื้นที่ดูแล เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่น้องมาเรียมอยู่ในปัจจุบัน พบว่าเป็นเขตผสมพันธุ์ Mating Zone จะพบพะยูน เพศผู้ อยู่เดี่ยวๆ หลายตัว หรือเคลื่อนย้ายไปพักในบ่อของมหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตตรัง หรือเคลื่อนย้ายไปที่โรงพยาบาลของศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ที่แหลมพันวา จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ จะพิจารณาตามความเหมาะสม และความพร้อมของ น้องมาเรียม ทีมสัตวแพทย์ และสภาพคลื่นลมในพื้นที่

อาการล่าสุด น้องมาเรียม วันนี้มีอาการดีขึ้นแล้ว สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดีขึ้น ออกว่ายน้ำคู่ไปกับเรือแม่ส้มได้อย่างช้า ๆ โดยมีการสลับกับการพัก จากการตรวจร่างกาย พบลมหายใจมีกลิ่น ตรวจปอดข้างซ้ายปกติ โดยมีการพิจารณาเก็บตัวอย่างลมหายใจเพื่อวิเคราะห์เซลล์และเพาะเชื้อต่อไป อัตราการเต้นของหัวใจปกติ การลอยตัว และการจมตัว สามารถทำได้ปกติ นอกจากนี้ ทีมพี่เลี้ยง ได้วางแผนเฝ้าระวังโดยจะใช้เรือแม่ส้มอีกลำพายประกบไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนตัวอื่นเข้ามาในพื้นที่

ขอบคุณข้อมูลและภาพ
FB : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง