ชาวเหนือกระอัก! ข้าวเหนียวแพง

ชาวเหนือกระอัก! ข้าวเหนียวราคาพุ่งไม่หยุด ปรับราคาขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ วอนรัฐแก้ไขด่วน

ราคาข้าวเหนียวที่จังหวัดเชียงใหม่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยและชาวบ้านผู้บริโภค ที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงขึ้น ล่าสุดราคาข้าวเหนียวขายปลีกตามตลาด จากกิโลกรัมละ 25 – 30 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 40 บาท

แม่ค้าที่ตลาดสดหน้าค่าย ป.พัน 7 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกว่า ปลายปี 2561 ราคาข้าวสาร ข้าวเหนียว กข.6 จากกระสอบละ 900 บาท ค่อย ๆ ขึ้นราคาเดือนละร้อยสองร้อย ล่าสุดวันนี้ (14 ส.ค. 62) กระสอบละ 1,850 บาท หรือขึ้นมา 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาขายปลีกจำเป็นต้องขยับตาม และ ต้องขายขั้นต่ำที่ 10 บาท จากเดิมเริ่มที่ 5 บาท

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน


เช่นเดียวกับนายวิญญู ประสานวงษ์ เจ้าของร้านขายข้าวสารลุงหนวด ในตลาดศิริวัฒนา อ.เมืองเชียงใหม่ ที่บอกว่าราคาข้าวเหนียวปรับขึ้นเป็นรายวัน ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จากเดิมกระสอบละ 1,200 บาท เป็น 2,000 บาท ล่าสุดเริ่มขาดตลาด สาเหตุเชื่อว่าเป็นเพราะมีการสั่งซื้อข้าวเหนียวจากทางภาคเหนือ ส่งไปขายในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

โดย นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวแพงในขณะนี้ มีหลายปัจจัย ทั้งผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตข้าวทั้งนาปรังและนาปีที่ผ่านมามีน้อยกว่าทุกปี ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล ข้าวเก่าเหลือน้อย ข้าวใหม่ก็ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการบริโภคกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาปรับตัวสูงตามกลไกทางการตลาด

ภาพจากอีจัน
นางนิยดา กล่าวต่อว่า แม้ข้าวจะเป็นสินค้าควบคุม แต่เป็นสินค้าควบคุมที่จะต้อง “ติดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก” ไม่ได้มีการควบคุมราคา หรือ เพดานราคาขั้นสูงไว้ ขณะที่หน่วยงานรัฐมีเพียงมาตรการในการตรวจสอบรายงานปริมาณสินค้าคงเหลือของกลุ่มโรงสีและกลุ่มผู้ค้าส่งข้าวเป็นรายเดือน เพื่อติดตามและควบคุมการกักตุนสินค้า ไม่มีอำนาจเข้าไปกำหนดเพดานราคา เว้นแต่คณะกรรมการว่าด้วยสินค้าและบริการระดับจังหวัด ที่จะพิจารณาตามสถานการณ์ ประกาศควบคุมราคา เหมือนกับที่เคยมีการประกาศควบคุมราคาน้ำตาลทรายก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การประกาศควบคุมราคาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะการกักตุนสินค้าที่จะส่งผลกระทบจะย้อนกลับไปตกที่ผู้บริโภคเสียเอง