จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไต้หวัน ตั้งฐานในไทย ตุ๋นเหยื่อเสียหายกว่า 30 ล้าน

ตม. จับแก็งคอลเซ็นเตอร์ไต้หวัน ใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ หลอกเหยื่อชาติเดียวกัน เสียหายกว่า 30 ล้าน

14 สิงหาคม 2562 ชุดสืบสวน ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกับ กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 และตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี ได้รับคำสั่งให้สืบสวนติดตามกลุ่มบุคคลชาวไต้หวันที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำผิด ข่มขู่เรียกเงินคนชาติเดียวกัน หลังจาก พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันประจำประเทศไทย ว่ามีกลุ่มคนร้ายชาวไต้หวันได้ตั้งฐานศูนย์โทรศัพท์ (Call Center) ในประเทศไทยแล้วโทรศัพท์ผ่านระบบโทรศัพท์ทางอินเตอร์เน็ต หรือ วีโอไอพี (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ไปหลอกลวงเหยื่อชาวไต้หวัน โดยปลอมเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสุขภาพ หลอกเหยื่อว่าบัตรประกันสุขภาพของเหยื่อถูกขโมยหลังจากนั้นมีการโอนสายที่สองอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อบอกเหยื่อว่าอัยการที่ดูแลเรื่องนี้ให้มาศาลให้เหยื่อหลงเชื่อ

ภาพจากอีจัน


ต่อมาจึงส่งแฟกซ์ซึ่งเป็นหนังสือราชการปลอมให้กับเหยื่อ เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของไต้หวันที่เปิดรองรับไว้แล้วมีกลุ่มคนร้ายอีกกลุ่มถอนเงินออก ซึ่งคนร้ายกลุ่มนี้หลอกลวงเหยื่อ ตั้งแต่ประมาณเดือน ตุลาคม 2561 ถึงปัจจุบัน มีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ที่ไต้หวันแล้ว จำนวน 21 ราย รวมความเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท

ภาพจากอีจัน


พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. จึงสั่งการให้ชุดจับกุมสืบสวนจนทราบว่า กลุ่มคนร้ายตั้งฐานเป็นศูนย์โทรศัพท์อยู่ในบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ อยู่หมู่ที่ 4 ต.สเม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี และสืบพบชาวไต้หวัน จำนวน 13 คน เป็นบุคคลมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ผบก.ตม 3 จึงดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและควบคุมกักตัวไว้ที่ห้องกัก สตม. เพื่อรอผลักดันส่งกลับไต้หวันต่อไป

ภาพจากอีจัน


จากการตรวจสอบบ้านพักที่เป็นศูนย์ Call Center พบของกลางที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดในการหลอกลวงผู้เสียหายชาวไต้หวัน อาทิ โทรศัพท์มือถือ จำนวน 44 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค จำนวน 10 เครื่อง, เครื่องปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ต จำนวน 17 เครื่อง, กล่อง Voip Gateway จำนวน 23 กล่อง, เครื่องโทรศัพท์บ้าน จำนวน 43 เครื่อง, ซิมการ์ดที่ยังไม่ได้ใช้งาน เครือข่าย Dtac จำนวน 5 ชิ้น, ซิมการ์ด Roaming ยี่ห้อ Blackberry จำนวน 4 ชิ้น, เครื่องบันทึกเสียงไม่ทราบยี่ห้อ จำนวน 3 เครื่อง, แผ่นกระดาษและสมุดจดบันทึกเป็นภาษาจีน (สคริปต์บทสนทนาหลอกลวง) จำนวนมาก, หนังสือจิตวิทยาขั้นสูงในการก่ออาชญากรรม ฉบับภาษาจีน จำนวน 1 เล่ม และแฟลชไดร์ฟ จำนวน 3 ชิ้น

ภาพจากอีจัน


ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันให้ความสำคัญกับคดีนี้มาก ใช้ระยะเวลาในการสืบสวนติดตามเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากกลุ่มคนร้ายมีความสามารถในการหลบซ่อน และหลอกลวงเหยื่อจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูง โดยในวันนี้ (15 สิงหาคม 2562) ทางการไต้หวันได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวัน จำนวน 5 นาย เดินทางเข้าพบ ผบช.สตม. เพื่อประสานงานและขอตรวจสอบพยานหลักฐานที่ตรวจยึดไว้ ซึ่งจะต้องทำการสืบสวนขยายผลประสานข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อย่างต่อเนื่อง