กรมควบคุมโรค เผย ผู้ป่วยโรค ไข้มาลาเรีย สูงกว่าปี64 ถึง 2.6 เท่า!

กรมควบคุมโรค เผย จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรค ไข้มาลาเรีย ในปี 2565 พบผู้ป่วยสูงกว่าปี 2564 ถึง 2.6 เท่า! และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

กรมควบคุมโรค เผย จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ โรคไข้มาลาเรีย ในปี 2565 พบผู้ป่วยสูงกว่าปี 2564 ถึง 2.6 เท่า!!!

เมื่อวานนี้ (26 ก.ค. 65) กรมควบคุมโรค ได้ออกมาเผยแผ่สถานการณ์ โรคไข้มาลาเรีย ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรค ไข้มาลาเรีย ในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วย 4,765 ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนการรายงานผู้ติดเชื้อในปี 2564 ถึง 2.6 เท่า!

โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ

กลุ่มที่1 มีอายุ 25-44 ปี

กลุ่มที่2 มีอายุ 15-24 ปี

กลุ่มที่3 มีอายุ 5-14 ปี

และจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่

-ตาก 2,724 ราย

-แม่ฮ่องสอน 757 ราย

-กาญจนบุรี 429 ราย

ชนิดเชื้อมาลาเรียส่วนใหญ่ คือ P.vivax (ร้อยละ 93.8) รองลงมา P.falciparum (ร้อยละ 3.0)

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเชื้อ P.vivax จะเป็นเชื้อชนิดรุนแรงน้อยกว่า P.falciparum แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี ทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียแบบเป็นๆ หายๆ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วง ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชนบทชายป่า หรือพื้นที่ๆ มีแหล่งน้ำ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคและมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนได้

โรคไข้มาลาเรีย หรือมีชื่อเรียกได้อีกว่า ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก ไข้ป้าง มี ยุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่ออกหากินเวลากลางคืน ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อมาจากการถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด แต่สาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น

เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10-12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรีย

อาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียจะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้นจะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก อ่อนเพลียและเหนื่อย หากประชาชนมีอาการดังกล่าวหลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่า หรืออาศัยอยู่ในป่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนก่อนเริ่มป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ และให้ประวัติการเดินทางเข้าป่า หรือพักอาศัยในป่า

กรมควบคุมโรค เตือนอีกว่า เนื่องจากโรคไข้มาลาเรียไม่มีวัคซีนและไม่มียาเพื่อป้องกันการเกิดโรคโดยเฉพาะ ดังนั้น หากต้องเดินทางเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเอง ดังนี้

1. สวมใส่เสื้อผ้าปกปิดแขนขาให้มิดชิด

2. ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง

3. นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเมื่อไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขอบคุณข้อมูลจาก: กรมควบคุมโรค

คลิปแนะนำอีจัน
ขุนแผนล่าแต้ม EP.1 กลายเป็นเหยื่อ เพราะเสือปากหวาน