วันออกพรรษา ความสำคัญและข้อปฏิบัติของชาวพุทธ

ความสำคัญของ วันออกพรรษา และข้อปฏิบัติของชาวพุทธ ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการย้อนมองดูตัวเองว่าได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไว้บ้างหรือเปล่าในช่วง 3 เดือน

“วันออกพรรษา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่ครบกำหนดทางพระวินัยที่พระภิกษุอธิษฐานอยู่จำพรรษาประจำที่ตลอดฤดูฝน 3 เดือน

ในประเทศไทย “วันออกพรรษา” เป็นประเพณีสืบเนื่องมานาน นับตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในดินแดนนี้ เพราะการออกพรรษาเป็นข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์กระทำ เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะทำปวารณาแทนการสวดพระปาติโมกข์ ส่วนคฤหัสถ์จะทำบุญเป็นกรณีพิเศษ และยังมีการทำบุญเนื่องในวัน “เทโวโรหณะ” หรือเรียกว่า “ตักบาตรเทโว”

สำหรับ “ตักบาตรเทโว” เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ “ตักบาตรเทโว” หรือ “เทโวโรหนะ” เป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์เสด็จ หลังจากที่พระองค์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน และกลับจากเทวโลก เรียกว่า “ตักบาตรดาวดึงส์”

วันออกพรรษา มีความสำคัญตามพระวินัยตรงที่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนจะเปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เป็นการอยู่ด้วยระเบียบและวินัยที่บังคับตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมจึงเป็นแบบอย่างที่ดี

สำหรับกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติใน “วันออกพรรษา”

1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ

2. ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร หรือจัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา

3. ร่วมกุศลธรรม “ตักบาตรเทโว”

4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัด และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

5. งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์

ประโยชน์ที่เราชาวพุทธจะได้รับจากวันออกพรรษา

เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่ง หรือ 3 เดือนที่ผ่านไปนั้น เราได้กระทำตนและจิตใจอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้การทำบุญออกพรรษาจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือ หลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนานๆ ก็จะเผย “นิสัย” ที่แท้ออกมา อาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้างๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน

ดังนั้น ใครที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง “วันออกพรรษา” จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการย้อนมองดูตัวเองว่าได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไว้บ้างหรือเปล่า เพื่อที่จะได้ปรับปรุงและไม่ทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมอีก

เนื่องในวันออกพรรษา อีจัน ขอนำพระคติธรรมใน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ( อัมพร อมฺพโร ) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาส่งต่อให้ทุกคนนะคะ

“…บุญ ความหมายที่แท้จริง หมายถึงการชำระใจให้สะอาด การชำระใจให้ผ่องแผ้ว

ถ้าเราทำบุญแล้ว เราไม่ได้ทำให้ใจของเราสะอาด อันนั้นเป็นบุญที่แท้ไม่ได้

การทำบุญด้วยหวังผลบันดาล คือ ให้ร่ำรวย มีชื่อเสียง หรือว่ามีหน้ามีตา มียศศักดิ์อำนาจ อันนั้นเป็นบุญแบบสะสมโชค ไม่ใช่บุญที่แท้จริง ในทางพระพุทธศาสนา

…บุญในทางพระพุทธศาสนา จะต้องก่อให้ผลสองอย่าง…

ประการที่หนึ่ง คือ

มีผลต่อจิตใจ คือทำใจให้สงบ ทำใจให้เป็นสุข และขณะเดียวกัน ก็ทำใจให้สะอาด

ถ้าเราทำบุญด้วยความโลภ อยากได้ผลตอบแทน หรือทำบุญแบบสะสมโชค อันนั้นจะได้บุญน้อย

ประการที่สอง คือ

บุญที่แท้จริง จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย ถ้าทำบุญแล้ว คนอื่นไม่ได้ ประโยชน์ หรืออานิสงค์ก็ไม่เกิด ไม่แผ่ไปถึงผู้อื่น อันนั้นก็เป็นบุญไม่ได้ เช่น

มีความเข้าใจว่า ทำบุญด้วยการไปเช่าวัตถุมงคลแล้ว ก็สามารถไปดูดทรัพย์ จากคนอื่นได้ การดูดทรัพย์อย่างนี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น จะเรียกเป็นบุญที่แท้ ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้

ขอให้พิจารณาเวลาทำบุญว่า ถ้าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วไม่ก่อให้เกิดความสงบใจ หรือช่วยลดละกิเลส ในจิตใจของเราแล้ว ก็ให้เข้าใจว่า “ไม่ใช่บุญ”

ขอให้ทุกคนมีจิตใจสงบ หมั่นสะสมบุญตามศรัทธานะคะ

อ้างอิงข้อมูล : https://www.m-culture.go.th/chachoengsao/ewt_news.php?nid=152

คลิปแนะนำอีจัน
อูน Diamond Grains เมื่อนักธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นบุคคลสาธารณะ