“จิสด้า” ชี้แจง วิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วม จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม

เกษตรจังหวัดอยุธยา แย้ง ข้อมูลน้ำท่วมของ จิสด้า ไม่ตรง! “จิสด้า” ชี้แจง วิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วม จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม

จากกรณีที่ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยแพร่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 11 ต.ค.66 เพื่อติดตามข้อมูลจากดาวเทียม ในสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2566 ที่หลายพื้นที่กำลังเผชิญอยู่นั้น

โดยข้อมูลดังกล่าวของ จิสด้า ระบุว่า เป็นข้อมูลจากภาพดาวเทียม COSMO-SkyMed-2 วันที่ 10 ตุลาคม 2566 (ช่วงเช้า) พบพื้นที่น้ำท่วมบางส่วนของหลายจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทั้งสิ้น 525,855 ไร่ ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา 158,091  ไร่ พิจิตร 121,554 ไร่ นครสวรรค์ 71,489 ไร่ เพชรบูรณ์ 58,002 ไร่ ลพบุรี 43,814 ไร่ อ่างทอง 31,246 ไร่ สระบุรี 15,507 ไร่ สุพรรณบุรี 13,296 ไร่ สิงห์บุรี 7,767 ไร่ และชัยนาท 5,089 ไร่

โดยประเด็นนี้ วันนี้ (12 ต.ค.66) ทางเกษตรจังหวัดอยุธยา ได้ชี้แจงในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 ว่า กรณีที่จิสด้า เผยแพร่ภาพน้ำท่วม 158,000 ไร่ ทางเกษตรอยุธยา คาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วม 677 ไร่ โดยแบ่งเป็นนาข้าว 633 ไร่ ที่เหลือเป็นโซนพืชไร่กับพืชสวน โดยอยุธยามีพื้นที่ปลูกข้าวยืนต้น 159,000 ไร่ เป็นการขึ้นทะเบียนเอาไว้กับเกษตรจังหวัด ทั้งนี้คาดว่าทางดาวเทียมอาจคลาดเคลื่อนเพราะดาวเทียมอาจไปตรวจจับนาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว แล้วทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วม

เพื่อไขข้อสงสัยในประเด็นนี้ อีจัน ได้สัมภาษณ์ ดร.สุรัสวดี ภูมิพานิช นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ ของ จิสด้า ได้ข้อมูลว่า ในส่วนของตัวเลขจังหวัดอยุธยา ข้อมูลล่าสุด 10 ต.ค.66 ตรวจพบน้ำท่วมขังทั้งสิ้น 158,091 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ปลูกข้าว 15,249 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกข้าวนี้ได้จากการวิเคราะห์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในรอบสองสัปดาห์ แต่ในส่วนที่ว่าการเก็บเกี่ยวต้องมีข้อมูลภาคพื้นดินมาสนับสนุนเพิ่มเติม

ดร.สุรัสวดี กล่าวต่อว่า การวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมของจิสด้าใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมหลายช่วงเวลา (Time series) ทำให้สามารถติดตามพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลย้อนหลัง 9 ต.ค. 66 ตรวจพบน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ปลูกข้าว 9,700 ไร่ ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยให้สามารถประเมินพื้นที่น้ำท่วมขังในภาพรวมครอบคลุมทั้งพื้นที่จังหวัดอยุธยาได้ ทั้งนี้ GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

นอกจากนี้ ดร.สุรัสวดี ระบุว่า ในส่วนของการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยท่านสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ พร้อมรายงานสรุปพื้นที่น้ำท่วมแต่ละจังหวัด เพิ่มเติมได้ที่ https://disaster.gistda.or.th